“บิ๊กเข้” เปิดประชุมกิจกรรมทางกายระดับโลก “ISPAH 2016” เผย คนไทยตายจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น 11% เหตุเคลื่อนไหวน้อย สูญงบประมาณปีละ 2.4 พันล้านบาท เร่งชงยุทธศาสตร์ฉบับแรก ตั้งเป้า 5 ปี คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ สสส. ชี้ ไม่ขยับเกิดโรคได้มากกว่าสูบบุหรี่ เตรียมออกปฏิญญากรุงเทพ เสนอ WHO แก้ปัญหากิจกรรมทางกาย ชูโขนช่วยร่างกายเคลื่อนไหวมาก พัฒนาสมอง
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ภายใต้หัวข้อ “Active Living for All : Active People, Active Place, Active Policy” หรือการสร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน : การมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคลสถานที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย และนโยบายที่สนับสนุนกิจกรรมทางกาย ซึ่ง สสส. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. นี้ โดยภายในงานมีนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 89 วินาที ก่อนการประชุม หลังจากนั้น มีการแสดงโขนไทยจากสถาบันคึกฤทธิ์ ในชุด “ยกรบ” ก่อนเปิดการประชุม โดยมีการติดเครื่องมือวัดผลคลื่นสมองและการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เห็นชัดเจนด้วยว่า การเล่นโขนช่วยพัฒนาสมองและเพิ่มกิจกรรมทางกายได้
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัย ข้อมูลวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนสังคมและนโยบายอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ กิจกรรมทางกายถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยด้วย คือ มุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของประชากรในทุกช่วงวัย โดยลดอัตราการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NonCommunicable Diseases หรือ NCDs) ให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573
“องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 6 ของประชากรทั่วโลก และเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน สำหรับประเทศไทยพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นจาก 314,340 คน ในปี 2552 เป็น 349,090 คน ในปี 2556 หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยข้อมูลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พบว่า ทั่วโลกสูญเสียค่ารักษาร่วมกับค่าเสียโอกาสเมื่อป่วยด้วยโรค NCDs เฉพาะส่วนที่มีผลมาจากการขาดกิจกรรมทางกาย ราว 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เฉพาะประเทศไทย ราว 2,400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายแห่งชาติฉบับแรกของไทยมีเป้าหมายขับเคลื่อนให้เห็นผลจริงภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีแผนดำเนินการในทุกช่วงวัย สนับสนุนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชนในสถานที่ต่างๆ เช่น ชุมชน โรงเรียน สถานประกอบการ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีวิชาการ การวิจัยที่จะได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายหรือสร้างการตื่นตัวให้กับสังคม เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาและความท้าทายด้านสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป จากอดีตที่เผชิญการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม อาทิ การกินอาหารรสหวาน มัน เค็ม การขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติของผู้ป่วยด้วยโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การประชุมจะช่วยผลักดันนโยบายระดับประเทศผ่านกลไกการขับเคลื่อนในระดับโลกที่ทุกประเทศมีส่วนในการออกแบบร่วมกันหรือเรียกว่าปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพื่อเสนอต่อองค์การอนามัยโลก พิจารณาเป็นกลไกประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกผ่านการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกปีหน้า เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของทุกคน
“การไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย (Physical Inactivity) อาทิ นั่งทำงานตลอดเวลา มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคได้เท่ากับหรือมากกว่าการสูบบุหรี่ ถึงขั้นในต่างประเทศมีคำกล่าว Sitting is the new smoking ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในแต่ละวันให้เพียงพอ ต้องส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัว ให้ทุกคนมีพฤติกรรมทางกายที่เพียงพอ และจำเป็นต้องอาศัยการจัดปัจจัยสภาพแวดล้อม การสนับสนุนเชิงนโยบาย หรือระบบสนับสนุน โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ รวมไปถึงการจัดระบบการศึกษา การคมนาคมขนส่ง การจัดพื้นที่ทางกายภาพเพื่อสร้างความสะดวกให้กับประชาชนในการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น ทางเท้าหรือเส้นทางที่เอื้อต่อการเดิน การเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ ดังนั้น ต้องอาศัยการทำงานที่บูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชนและประชาสังคมที่จะเข้ามามีบทบาทสนับสนุน” ดร.สุปรีดา กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานประชุมมีการเปิดวิดีโอจาก ดร.มาการ์เร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก โดยกล่าวว่า กิจกรรมทางกายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสุขภาพประชากรโลก ช่วยป้องกันและลดอัตราตายของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งที่ผ่านมาทั่วโลกมีผู้ตายจากโรคดังกล่าวจำนวนกว่า 3.2 ล้านคน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมของทุกประเทศ ดังนั้น ต้องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นให้ได้อย่างน้อย 10% ในปี 2025 โดยผู้ใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ต้องมีกิจกรรมทางกายให้ได้ในระดับกลาง คือ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ กลุ่มวัยรุ่นและเด็กต้องทำให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ปัญหาคือวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 4 มีกิจกรรมทางกายไม่ถึงเป้าหมาย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น ถนนไม่มีความปลอดภัย อากาศไม่บริสุทธิ์ ดังนั้น จึงต้องเน้นประเด็นสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย
ดร.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยยังให้โอกาสในการประชุมงานระดับโลก ทั้งที่อยู่ในช่วงไว้อาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการพัฒนาสุขภาพทางกายและใจ เช่น การออกกำลังกาย พระองค์ท่านทรงล่องเรือใบ อีกทั้งเป็นต้นแบบด้านสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีมาโดยตลอด ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ สมาพันธ์ฯ รวบรวมข้อมูลความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญที่เสนอทางออกในการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นท้าทาย คือ การมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืนในกลุ่มประชากรทุกชนชั้น ที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และร่วมกันหาทางออกเพื่อป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นข้อกังวลลำดับต้นๆ ที่ทำให้เราต้องพัฒนากิจกรรมทางกายให้เกิดแก่ประชากรโลกทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ซึ่งยังไม่บรรลุเป้าหมายในขณะนี้ แต่ในอนาคต หวังว่าจะบรรลุได้ เพราะเรื่องนี้สหประชาชาติได้เคยแสดงความห่วงใยอย่างชัดเจน ซึ่งสมาพันธ์ฯ และ สสส. จะสานต่อความร่วมมือภายหลังการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ในพิธีปิดการประชุม ISPAH ในวันที่ 19 พ.ย.
ด้าน นายเจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการติดตั้งเครื่องมือวัดผลคลื่นสมองและการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะการแสดงโขน จะเห็นได้ว่า สมองแต่ละส่วนมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน โดยสมองส่วนกลางควบคุมเรื่องของการเคลื่อนไหว สมองส่วนหน้าควบคุมเรื่องของการตัดสินใจ สมองส่วนท้ายคุมส่วนของการรับรู้มองเห็น และส่วนข้างเป็นเรื่องของการฟัง อย่างขณะการรำจะเห็นได้ว่าสมองส่วนกลางสัมพันธ์กับส่วนข้าง เพราะต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากและต้องอาศัยการฟังจังหวะให้ดี เป็นต้น ส่วนค่าการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในส่วนของตัวพระเกิดการเผาผลาญของกล้ามเนื้อ 12 แคลอรี พลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนอยู่ที่ 48% ขา 45% และน่อง 52% ส่วนตัวลิง เผาผลาญ 17 แคลอรี พลังงานที่ใช้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนอยู่ที่ 52% ขา 47% และน่อง 59% ส่วนตัวยักษ์ เผาผลาญ 14 แคลอรี พลังงานที่ใช้เคลือ่นไหวกล้ามเนื้อแขนอยู่ที่ 41% ขา 47% และน่อง 52% เรียกได้ว่าโขนช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายมาก และช่วยเรื่องการทำงานของสมองด้วย