xs
xsm
sm
md
lg

3.2 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงตายจากการขาด “กิจกรรมทางกาย” ไทยจัดประชุม ISPAH 2016 ระดมสมองแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


งานวิจัย WHO ชี้ ทั่วโลกตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังปีละ 35 ล้านคน ห่วงคนมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ทำ 3.2 ล้านคน เสี่ยงเสียชีวิต ชี้ คนถูกตรึงไว้กับหน้าจอ จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไทยเจ้าภาพจัดประชุม ISPAH2016 หวัง 80 ประเทศทั่วโลก นำต่อยอดสร้างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายที่เหมาะสม

วันนี้ (7 พ.ย.) ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. นี้ สสส. ร่วมกับสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ และองค์การอนามัยโลก เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (ISPAH 2016) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้ถูกจัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ซึ่งปัญหาสาธารณสุขในปัจจุบันที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า แต่ละปีประชากรโลก 35 ล้านคน ต้องเสียชีวิตไปเพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจาก เหล้า บุหรี่ อาหาร และขาดกิจกรรมทางกาย

“คนยุคนี้ถูกตรึงไว้กับหน้าจอ จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง แต่ละวันพบว่าคนจะใช้เวลาติดจอ 6 - 7 ชั่วโมง โดยรวมแล้วมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 13.42 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ ประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกประมาณ 1 ใน 4 ยังมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ที่น่ากังวลคือ WHO คาดคะเนว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ จะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกถึงร้อยละ 5.5 หรือประมาณ 3.2 ล้านรายต่อปี” ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าว

ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า การประชุม ISPAH 2016 ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทย และอีก 80 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 800 คน ที่เข้าร่วมประชุม จะได้ร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ พร้อมต่อยอดนำไปสร้างเสริมหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในทุกช่วงวัย ซึ่งกิจกรรมไฮไลต์ในการประชุมที่น่าสนใจ คือ การนำเสนอผลงานวิจัยกิจกรรมทางกายในด้านต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และการเปิดเผยรายงานสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกาย 2 รายงานสำคัญ คือ Country Card รายงานเปรียบเทียบการมีกิจกรรมทางกายของประชากรใน 67 ประเทศทั่วโลก และ Report Card รายงานการมีกิจกรรมทางกายของเยาวชนใน 38 ประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นได้ และที่สำคัญ ในพิธีปิดการประชุมจะมีการประกาศปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่จะนำไปสู่การผลักดันการขับเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม ไปจนถึงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น