xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น “จิตอาสา” เสริมทัพประชุมกิจกรรมทางกายระดับโลก “ISPAH 2016”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศงานปฐมนิเทศ จิตอาสา งานประชุม ISPAH2016
พฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยกำลังเป็นปัญหาทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะการนั่งเสพสื่อสังคมออนไลน์ หรือนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานๆ แต่ละวันผู้คนใช้ชีวิตอยู่แต่หน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน 6 - 7 ชั่วโมง โดยรวม “คนไทย” มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เฉลี่ย 13.42 ชั่วโมง และกระฉับเฉงเพียง 1.57 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่นำมาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็ง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) ขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายระดับโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน มีบทคัดย่องานวิจัยเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายส่งเข้าร่วมกว่า 600 เรื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์และความสำคัญของกิจกรรมทางกายในระดับโลก

ที่สำคัญ ในการจัดประชุม ISPAH 2016 ในครั้งนี้ จะมีเหล่า “จิตอาสา” มาช่วยเหลือดูแลผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้การจัดประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อย ที่สำคัญ ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยแก่ชาวต่างชาติด้วย ซึ่งได้มีการจัดปฐมนิเทศจิตอาสางานประชุมดังกล่าวครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 กล่าวว่า การประชุม ISPAH 2016 ถือเป็นการประชุมเรื่องกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งแรกในประเทศไทย และเอเชีย ซึ่งการจัดงานไม่ใช่แค่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคนโยบาย ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน อย่าง “จิตอาสา” ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการประชุมกิจกรรมทางกาย

“การประชุมระดับโลกในปัจจุบันจะมีจิตอาสาเข้ามาช่วยจัดงานประชุมจำนวนมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป จะมีจิตอาสาเข้ามาทำงานประชุมเช่นนี้เยอะมาก การที่งานประชุม ISPAH 2016 ในครั้งนี้มีเหล่าจิตอาสามาช่วยบริการ ดูแลให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่เข้ามาร่วมประชุม เท่ากับว่า เป็นการยกระดับคุณภาพการประชุมขึ้น ที่สำคัญ การเปิดโอกาสให้เหล่าจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลืองาน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ คนรุ่นใหม่ ที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือได้เข้ามามีประสบการณ์ในการทำงานส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการลงทะเบียน การดูแลในโซนนิทรรศการ โปสเตอร์ ห้องวิชาการต่างๆ ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือ ช่วยตอบคำถามต่างๆ แก่ผู้เข้าร่วมประชุม การจับเวลา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ในงาน หรือการไปประจำอยู่ในจุดประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมประชุม เป็นต้น ซึ่งเราได้มีการเตรียมความพร้อมจิตอาสาโดยการจัดปฐมนิเทศ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานประชุม และให้ข้อมูลกลับไปศึกษาเพื่อที่จะได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานประชุมต่างๆ ได้ถูกต้อง” ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าว

ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าวว่า จิตอาสาที่มาช่วยงานประชุม ISPAH 2016 มีผู้สมัครเข้ามา 200 กว่าคน โดยจะมีการโทรศัพท์สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การทำงานจิตอาสา เพื่อดูคุณสมบัติ โดยมีธนาคารจิตอาสามาร่วมด้วย ซึ่งสุดท้ายได้อาสาสมัครมาร่วมงานประมาณ 60 - 70 คน ซึ่งจิตอาสาที่ผ่านเข้ามาร่วมงานประชุมนั้นมีทั้งอายุน้อยสุด คือ 16 ปี ไปจนถึงอายุมากที่สุด 66 ปี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 20 กว่าปี ซึ่งประโยชน์ของการมาทำจิตอาสานอกจากได้ใช้ศักยภาพของตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดงานแล้ว ยังสามารถเรียนรู้ความรู้ต่างๆ เรื่องของการดูแลสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมจากการประชุมได้ด้วย เช่น ระหว่างที่ว่างจากการทำงานก็สามารถไปเดินดูหรือรับฟังงานประชุมได้ และนำมาปรับใช้กับชีวิตของตัวเองต่อไปได้
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ หรืออาจารย์เอเชีย
ด้าน ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ หรือ อาจารย์เอเชีย ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา เล่าว่า จิตอาสาที่เข้ารอบมาร่วมงานประชุม ISPAH2016 ส่วนใหญ่เคยผ่านงานจิตอาสามาก่อนแล้ว แต่การที่ต้องนำมาปฐมนิเทศ หรืออบรมเพิ่ม ก็เพื่อให้เข้าใจถึงงานประชุมที่จะจัดขึ้นว่ามีรายละเอียดเป็นเช่นไร เพราะแต่ละคนอาจเคยผ่านงานจิตอาสามาต่างกัน มีความสนใจในการทำจิตอาสาที่ต่างกัน และการคัดเลือกก็ไม่ได้เลือกจิตอาสาที่มีความสนใจ หรือใส่ใจด้านกิจกรรมทางกายโดยเฉพาะ อาจทำให้ไม่เข้าใจในโครงสร้างของงาน จึงต้องมีการอบรมเพื่อเปิดทัศนคติและทำให้เกิดความเข้าใจในรูปแบบของการประชุมที่จะจัดขึ้นก่อน เพื่อที่จะได้ทำงานได้อย่างถูกต้องและเป็นระบบ นอกจากนี้ เกณฑ์ในการคัดเลือกก็จะดูพื้นฐานของการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะงานประชุมเป็นระดับนานาชาติ รวมถึงพิจารณาเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ด้วย เพราะต้องติดต่อสื่อสาร พูดคุยกับผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างชาติ ถือเป็นผู้ที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยด้วย

“การอบรมจะเน้นในเรื่องของคุณภาพการฟัง หรือสุนทรียสนทนา เพื่อการเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อรู้จักฟังผู้อื่นก็จะช่วยให้เข้าใจผู้อื่น ทำให้เป็นอาสาสมัครที่ดี ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะคนขาดทักษะในการฟัง คิดถึงแต่ตัวเองก่อน ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน นอกจากนี้ ยังอบรมในเรื่องของทักษะการกลับมาอยู่กับตัวเอง และสะท้อนตัวเอง เพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น 3 สิ่งพื้นฐานสำคัญมากๆ ที่จิตอาสาจะต้องมี” ดร.สรยุทธ กล่าว

สำหรับจิตอาสาในประเทศไทย ถือว่ามีมานานแล้ว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่เอื้อเฟื้อ เป็นคนมีน้ำใจต่อกัน เห็นได้จากเมื่อเวลาเกิดภัยพิบัติต่างๆ ผู้คนต่างหลั่งไหลออกมาช่วยเหลือกันและกันจำนวนมาก แต่ปัญหาคือเมื่อจบงานก็จบกันไป การเชื่อมต่อหรือจัดทำให้เป็นระบบยังไม่มี ดร.สรยุทธ อธิบายว่า ธนาคารจิตอาสาจึงถือกำเนิดเพื่อเป็นการเชื่อมโยงระบบการทำงานจิตอาสา โดยเปิดรับฝากเวลาจากจิตอาสา ว่า จิตอาสาแต่ละคนมีเวลาว่างช่วงไหน มีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อจับคู่กับองค์กรที่ต้องการจิตอาสาให้มีความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีจิตอาสาฝากเวลาไว้กับธนาคารรวมแล้วถึง 2 ล้านกว่าชั่วโมงต่อปี ส่วนใหญ่มีความสนใจด้านการศึกษา เด็กและเยาวชน และสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่อายนุประมาณ 18 - 24 ปี ขณะที่องค์กรที่ต้องการจิตอาสาก็เข้ามาสมัครร่วมเป็นสมาชิกกว่า 200 องค์กร ซึ่งหากจิตอาสาที่สนใจจะทำงานอย่างเป็นระบบก็สามารถมาฝากเวลากับธนาคารจิตอาสาได้ เพราะมองว่าปัจจุบันประเทศไทยมีทรัพยากรที่ยังไม่ถูกดึงมาใช้ประโยชน์จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือทรัพยากรมนุษย์
นายสมศักดิ์ ธรรมร่มดี
นายสมศักดิ์ ธรรมร่มดี อายุ 66 ปี อาสาสมัครที่อายุมากที่สุดในงานประชุม ISPAH2016 เล่าว่า ตนเคยทำงานกับสหประชาชาติมากว่า 30 ปี ตอนนี้เกษียณแล้ว ทำให้มีเวลาว่าง ก็อยากเอาศักยภาพที่ตนเองมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม โดยครั้งแรกที่ทำงานจิตอาสา คือ เมื่อ 18 ปีก่อน ในงานเอเชียนเกมส์ โดยทำหน้าที่ดูแลนักกีฬาเทนนิสจีน ทั้งหญิงและชาย โดยทำหน้าที่เป็นล่ามช่วยแปลภาษาไทย - จีน นอกจากนี้ ยังผ่านการทำงานจิตอาสากับคนตาบอดและคนพิการมาแล้วหลายงาน ซึ่งอาสาสมัครงานประชุม ISPAH2016 นั้น ตนพบเห็นข่าวโดยบังเอิญ ก็ติดต่อเพื่อนที่เป็นจิตอาสาด้วยกันว่าจะทำอย่างไรถึงมาเข้าร่วมได้ ก็ได้รับความช่วยเหลือในการสมัครเข้ามาร่วม หลังจากผ่านสัมภาษณ์ก็เข้ามาสู่การอบรมในที่สุด ที่ผ่านมา ก็เคยทำงานจิตอาสาแนวประชุมหลายครั้ง คิดว่าไม่น่าจะต้องปรับตัวมาก เพียงแต่ต้องศึกษารายละเอียดของงานประชุมให้ดี เพื่อให้ข้อมูลและช่วยเหลือผู้เข้าประชุมได้อย่างถูกต้อง ไม่ให้เสียชื่อเสียงประเทศไทย ทั้งนี้ มองว่า เด็กๆ รุ่นใหม่หันมาสนใจการทำงานจิตอาสาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี และอยากให้มีเช่นนี้มากๆ เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่มากขึ้น

“การอบรมการเป็นจิตอาสางาน ISPAH 2016 ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจิตอาสา โดยเฉพาะทักษะการฟังที่ดี ทำให้เราต้องรู้จักฟังที่คนอื่นพูด คอยสังเกตว่าคนพูดมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งชัดเจนเมื่อเวลาชาวต่างชาติถาม เมื่อเราตั้งใจฟัง เขาก็จะชมว่าไทยมีความตั้งใจและใส่ใจในสิ่งเขาฟังและพร้อมให้การช่วยเหลือ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญมากๆ ของจิตอาสา” นายสมศักดิ์ กล่าว
น้องไอซ์-น.ส.อภิชญา เรียมใจเย็น
ขณะที่ น้องไอซ์ - น.ส.อภิชญา เรียมใจเย็น ว่าที่บัณฑิตเอกการจัดการวิศวกรรม สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนมีความสนใจด้านงานจิตอาสาอยู่แล้ว โดยขณะที่เรียนอยู่ก็มีการทำงานจิตอาสาอยู่เนืองๆ เช่น ไปจัดกิจกรรมบริจาคของให้แก่เด็กกำพร้า หรือการจัดอีเวนต์ให้คนสมัครแข่งฟุตบอลการกุศล เพื่อมอบเงินให้แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น สำหรับงานจิตอาสางานประชุมนานาชาติเช่นนี้ ไม่เคยทำมาก่อน จึงมีความสนใจที่จะมาหาประสบการณ์ใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ที่สำคัญคือ ได้ต่อยอดการใช้ภาษา เพราะตนเรียนนานาชาติ หรืออินเตอร์ ก็เรียกได้ว่า มาฝึกพูดฝึกฟังภาษาอังกฤษภายในงาน ซึ่งการมาอบรมปฐมนิเทศในครั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะรายละเอียดของงานประชุม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องให้ความช่วยเหลือ ให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าประชุม

“ขอฝากถึงเยาวชนที่สนใจงานจิตอาสา จริงๆ แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องไปตามงานอีเวนต์ต่างๆ เพื่อร่วมทำงานจิตอาสา เพราะจริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่ถือว่ามีจิตอาสาในตัวมากอยู่แล้ว โดยสามารถช่วยเหลืออาจารย์ ช่วยเหลือเพื่อนในชีวิตประจำวันก็ได้ ถือว่าเป็นการทำจิตอาสาไปในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่การมาทำงานจิตอาสาตามงานอีเวนต์ลักษณะนี้ก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง และได้เรียนรู้จักคนเพิ่มมากขึ้น” น้องไอซ์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น