xs
xsm
sm
md
lg

ทั่วโลกเนือยนิ่ง!! กว่า 1 ใน 4 ขยับร่างกายน้อยกว่า 30 นาที/วัน คนไทยเคลื่อนไหวต่ำกว่า 80% เสี่ยงโรคเรื้อรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คนทั่วโลกกว่า 1 ใน 4 ขยับร่างกายน้อย ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ขณะที่คนไทยเคลื่อนไหวร่างกายเพียงพอน้อยกว่า 80% เร่งร่างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติเสนอ ครม. เพิ่มกิจกรรมทางกาย ตั้งเป้ามีกิจกรรมทางกาย 80% ในปี 2564 เตรียมจัดประชุม ISPAH พ.ย. 59 สร้างความเข้าใจ

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (The 6th ISPAH 2016) กล่าวว่า การจัดการประชุมดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่า จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายระดับโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน และมีบทคัดย่องานวิจัยส่งเข้าร่วมกว่า 700 เรื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์และความสำคัญของกิจกรรมทางกายในระดับโลก ซึ่งขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีความเชื่อว่าชีวิตที่ดี คือ การเป็นเจ้าคนนายคน นั่งกินนอนกิน ทำให้ไม่ค่อยอยากขยับตัวทำอะไร การออกกำลังกายจึงเป็นทำเพียงเฉพาะชั่วโมงพละ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายทุกรูปแบบ ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพค่อนข้างมาก ๆ จึงต้องมีการขับเคลื่อนและให้ความรู้ในเรื่องของการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เช่น การเดินไปมา การขึ้นลงบันได เป็นต้น ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวจะช่วยให้ทราบปัญหาสถานการณ์ และนำไปสู่การนำเสนอนโยบายกิจกรรมทางกายในระดับประเทศต่อไป

ศ.ฟิโอน่า บูล ประธานสมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า กิจกรรมทางกาย คือ การเคลื่อนไหวทุกอย่าง ทั้งการเล่น การเดิน การออกกำลังกาย การปั่นจักรยาน กิจกรรมทั้งหมด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพนั้นมองว่า การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอส่งผลให้เกิดโรคมากกว่าปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างการสูบบุหรี่ ดังนั้น การลงทุนการป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้านกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงได้มาก สำหรับข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของแต่ละประเทศนั้น ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อดูว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่คาดว่าในแต่ละประเทศทั่วโลก ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก คือ ประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 4 ยังมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ส่วนในเด็กที่ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ก็พบว่าเด็กอายุ 12 - 13 ปี ยังมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ สำหรับในภูมิภาคเอเชียการมีกิจกรรมทางกายยังคงอยู่ในระดับกลาง ๆ ส่วนประเทศไทยไม่น่าแตกต่างจากพื้นที่อื่นมากนัก ซึ่งหากมีข้อมูลที่ชัดเจนก็จะสามารถนำมาออกแบบนโยบายด้านกิจกรรมทางกายของประเทศไทยต่อไปได้ ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการคือการเพิ่มการตระหนักรู้เรื่องกิจกรรมทางกายให้คนในสังคมเข้าใจ และทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มมากขึ้น เช่น โรงเรียน ออฟฟิศ สถานที่ทำงานต่างๆ และสิ่งแวดล้อมภายนอกอาคาร เป็นต้น

ดร.ทิม อาร์มสตรอง ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายและการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อสุขภาพมี 4 ประเด็น คือ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหาร และกิจกรรมทางกาย ซึ่งในส่วนของบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหาร เป็นสิ่งที่ทำมานานและมีการผลักดันเป็นวาระระดับโลกและมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว ขาดแต่เรื่องของกิจกรรมทางกายที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม WHO ให้เป้าหมายโลก 9 ประเด็นในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแก่ประเทศสมาชิก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องของกิจกรรมทางกายด้วย ซึ่งจะต้องลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลงให้ได้ 10% ภายในปี 2025 หรืออีก 9 ปี ซึ่งตอนนี้ก็เห็นว่าแต่ละประเทศเริ่มมีนโยบายเรื่องการเพิ่มกิจกรรมทางกายบ้างแล้ว แต่ปัญหาคือจะต้องมาดูว่านโยบายนั้นมีเนื้อหาเป็นอย่างไรและมีแผนการจัดการดีแค่ไหนด้วย

นพ.ณัฐพร วงษ์สุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น จากน้อยละ 66.3 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 71.6 ในปี 2558 แต่ยังไม่ถึงร้อยละ 80 อย่างไรก็ตาม หลังจากการจัดประชุม ISPAH จะมีการร่างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง สถานประกอบการ ชุมชน การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. เตรียมผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ต้องมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และภายในปี 2562 ลดความชุกของของภาวะน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมการสร้างพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมทุกช่วงวัย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง สนับสนุนและสื่อสารรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติได้ง่ายให้เป็นค่านิยมและวิถีชีวิต รวมถึงพัฒนางานวิชาการ งานวิจัยกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น