โรค NCDs ฆาตกรอันดับหนึ่งของโลก ไทยเสี่ยงวิกฤตเสียงบมหาศาลรักษาโรค นักวิชาการแนะคุม 4 ปัจจัยเสี่ยง “บุหรี่ - เหล้า - อาหาร - ออกกำลังกาย” ช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ชงเพิ่มภาษีบุหรี่ - เหล้า คุมการโฆษณา ลดกินเค็ม ไขมันทรานส์ เสริมกิจกรรมทางกายทั้งระดับ ร.ร. ชุมชน เมือง
วันนี้ (30 พ.ย.) นพ.หทัย ชาตินนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวในงานประชุมหารือเรื่อง “NCDs คร่าชีวิต ต้องพิชิตด้วยพลังหลายภาคส่วน” จัดโดย แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCD Network) ว่า จากการประชุม World Economic Forum ปี 2554 ผลร้ายที่จะเกิดจากกลุ่มโรค NCDs ทั้ง 5 ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และสุขภาพจิต จะทำให้ทั่วโลกสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาโรคกลุ่มดังกล่าวใน 20 ปีข้างหน้าถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,400 ล้านล้านบาท) สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีข้อมูลพยากรณ์การสูญเสียในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่เฉพาะปี 2552 ประเทศสูญเงินถึง 198,512 ล้านบาทไปกับการจัดการกลุ่มโรค NCDs
ด้าน ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้จัดการโครงการเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และรัฐบาลไทย กล่าวว่า มาตรการควบคุม 4 ปัจจัยเสี่ยงหลักเพื่อป้องกันโรค NCDs คือ การควบคุมยาสูบ การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดการอาหาร และการเพิ่มการเคลื่อนไหวทางกาย เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรับรองว่ามีประสิทธิผลในการลดโรค มาตรการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิผลสูงคือ การขึ้นภาษีให้สูงกว่าค่าเงินเฟ้อ บวกกับการเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ การห้ามการโฆษณา การส่งเสริมการขาย การให้ทุนอุปถัมภ์จากบริษัทบุหรี่ทุกรูปแบบ รวมทั้งมาตรการคัดกรอง และบำบัดเบื้องต้น ส่วนการควบคุมการบริโภคสุรา ต้องใช้มาตรการด้านภาษี การควบคุมการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึงมาตรการคัดกรองและบำบัดเบื้องต้น
น.ส.สุลัดดา พงษ์อุทธา ผู้จัดการแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ทางออกมาตรการด้านอาหารสำหรับลดโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ควรมีการจัดทำมาตรการลดเค็มหรือลดปริมาณโซเดียมในอาหาร อาหารปลอดไขมันทรานส์ การจัดการอาหารในสถานพยาบาลและโรงเรียนให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม การจัดการควบคุมการทำการตลาดอาหารที่มุ่งไปที่เด็ก การจัดเก็บภาษีอาหารเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อสุขภาพและการสนับสนุนให้ผักผลไม้ปลอดภัย มีราคาถูก ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หรือแม้แต่การบริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ
ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ทางออกมาตรการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศ คือ 1. มาตรการระดับโรงเรียน/สถานศึกษา ควรเพิ่มเวลาการเล่นแบบ Active play ให้เด็กนักเรียนวันละ 60 นาที 2. มาตรการระดับชุมชน ควรให้อำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของประชาชน 3. มาตรการระดับเมือง ควรกำหนดการออกแบบเมืองเพื่อรองรับการเดินทางที่สร้างโอกาสการมีกิจกรรมทางกายของประชาชน เช่น ทางเดิน ทางจักรยาน และระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกับทางจักรยาน
4. มาตรการระดับองค์กรภาครัฐ ควรเสริมกระบวนทัศน์องค์กรทางการกีฬาของรัฐ ได้แก่ กรมพลศึกษา และการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เห็นความสำคัญของกีฬามวลชน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชากรกว่า 60 ล้านคน 5. มาตรการระดับชาติ ควรกำหนดให้กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่มีความสำคัญสูง และ 6. มาตรการทางการสื่อสารเพื่อสังคม ควรพัฒนาระบบและช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมถึงความสำคัญและความจำเป็นของกิจกรรมทางกายที่มีต่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่