xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่งทำงาน นอนเล่นมือถือ ไม่เคลื่อนไหว เสี่ยงตายก่อนวัย ป่วยโรค NCDs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


WHO ชี้ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” นั่งทำงาน นอนเล่นมือถือ ไม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวมีกิจกรรมทางกาย ทำคนตายก่อนวัยมากถึง 3.2 ล้านคน กรมอนามัยเผยผลสำรวจคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงเหลือ 68% หวั่นสุขภาพแย่ เสี่ยงโรค NCDs ตั้งเป้าเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายในปี 2563

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ไม่ได้จำกัดเฉพาะการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาเท่านั้น แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายใด ๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อและพลังงานในชีวิตประจำวันทั่วไปด้วย เช่น การขึ้นบันได การเดินระหว่างอาคาร การเดิน หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ซึ่งคนไทยปัจจุบันกำลังมีพฤติกรรมนี้มากขึ้น เช่น นั่งทำงาน นั่งประชุม นั่งหรือนอนเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้มีเวลาและโอกาสในการออกกำลังกายน้อยลง จึงอยากให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น เช่น ระหว่างทำงานมีการลุกยืน เดินไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง ขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจักรยานมาทำงาน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2552 พบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก ถึง 3.2 ล้านราย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 11,129 รายในประเทศไทย และจากการสำรวจระดับการมีกิจกรรมทางกายที่พอเพียงในประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า คนไทยมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงจากปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 85 เหลือร้อยละ 82 ในปี 2551 และร้อยละ 68 ในปี 2557 ทำให้คนไทยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้น อันจะส่งผลต่อภาระงบประมาณในการรักษาพยาบาล สมรรถภาพ ในการทำงาน และภาระทางสังคมในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า กรมฯ และภาคีเครือข่ายได้ประชุมระดมสมองจัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ โดยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมียุทธศาสตร์ย่อยในมิติต่าง ๆ เช่น ระบบการศึกษา การคมนาคมขนส่ง การผังเมือง ระบบสาธารณสุข ระบบภาคธุรกิจและสถานประกอบการ การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย เป็นต้น โดยจะเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ต่อคณะรัฐมนตรี ในต้นปี 2559 และขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อไป

ด้าน นพ.ชัยพร พรหมสิงห์ ผู้อำนวยการกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับเด็ก อายุ 6 - 17 ปี อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน สำหรับกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง/หนัก สำหรับผู้ใหญ่ อายุ 18 - 64 ปี อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สำหรับกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง หรืออย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ สำหรับกิจกรรมทางกายระดับหนัก โดยให้มีกิจกรรมในแต่ละครั้งอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป ส่วนวัยสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปนั้น มีข้อแนะนำเช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ แต่ให้เพิ่มเติมการฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการล้ม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งด้วย โดยประชาชนสามารถดูระดับของกิจกรรมทางกายอย่างง่าย คือ ระดับปานกลาง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเริ่มหายใจลำบาก แต่ยังพูดเป็นคำได้ เช่น การเดินเร็ว ส่วนกิจกรรมระดับหนัก เป็นกิจกรรมที่ทำแล้ว หายใจหอบจนพูดไม่เป็นคำ เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น