xs
xsm
sm
md
lg

ที่สุดแห่งความภาคภูมิใจ!! สสส.ชวนคนไทย “ขยับสร้างสุข” ต้อนรับงานประชุมเชิงสุขภาพระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งแรกในเอเชีย! พบกับสุดยอดการประชุมเชิงสุขภาพระดับโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดย สสส. ร่วมกับสมาคมนานาชาติเพื่อการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพ หรือ ISPAH (The International Society for Physical Activity and Health) ชักชวนคนไทยเข้าร่วมงานการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

เพราะวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักมี “พฤติกรรมเนือยนิ่ง ติดจอ ขาดการออกกำลังกาย" ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก แม้จะรู้ว่ากิจกรรมทางกาย จะมีประโยชน์อย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ใส่ใจเท่าที่ควร และนั่นก็เป็นที่มาของการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ หรือการประชุม ISPAH ครั้งที่ 6

ISPAH หรือ “สมาคมนานาชาติเพื่อการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพ” (The International Society for Physical Activity and Health) เป็นสมาคมที่มีพันธกิจและยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี โดยมีสถานะเป็นเครือข่ายองค์กรสากลที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ และการลดผลกระทบจากโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ความสำคัญของการประชุม ISPAH ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการประชุมระดับโลกและมีการจัดประชุมเป็นประจำทุก 2 ปี เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาด้านสุขภาพผ่านการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย, ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทั้งในเรื่องศักยภาพ และส่งเสริมทั้งในเรื่องกิจกรรมทางกายและสุขภาพ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดนโยบายสำหรับการมีกิจกรรมทางกายในทุกประเทศ

ทั้งนี้ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2555 - 2558 จากผลสำรวจโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า กลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายลดลง คือ กลุ่มวัยเด็ก ลดลงจากร้อยละ 67.6 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 64.8 ในปี 2558 ขณะที่วัยรุ่นและวัยทำงานขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 62.9 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 66.6 ช่นเดียวกับผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.0 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 68.5

นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เข้าข่าย “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ เบาหวานชนิดที่สอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม รวมถึงภาวะโรคอ้วนซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคที่กำลังเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ที่มากไปกว่านั้นคือมีอัตราสูงที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่าการสูบบุหรี่ โดยต้นเหตุจากไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เปลี่ยนไป 4 อันดับแรกคือ
1. นั่ง / นอนดูโทรทัศน์ (ร้อยละ 50.0)
2. นั่งคุย / นั่งประชุม (ร้อยละ 28.4)
3. นั่งทำงาน / นั่งเรียน (ร้อยละ 27.0)
4. นั่งเล่นเกม โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ (ร้อยละ 20.1)

จากปัจจัยเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลกร้อยละ 5.5 หรือประมาณ 3.2 ล้านรายต่อปีนั้น ได้ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมมือกับสมาคมนานาชาติ ISPAH (The International Society for Physical Activity and Health) จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ 2559 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ สร้างเครือข่ายองค์กรสากลที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อลดผลกระทบจากโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการประชุมดังกล่าวขึ้น

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีไฮไลต์สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ การประกาศปฏิญญาสากล (Bangkok Declaration on PA For Sustainable on PA for Sustainable Development) ที่ว่าด้วยเจตจำนงร่วมกันระหว่างผู้ร่วมงานและตังองค์กร เพื่อขับเคลื่อนงานไปสู่นโยบายโลกด้าน PA ในปี 2560, การนำเสนอผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Showcase Best Practices) และ การแถลงผล Report Cards วัดระดับ PA ในเด็กและเยาวชน 38 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศไทยร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งข้อมูลการสำรวจดังกล่าวนี้ จะนำมาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในการประชุมวันที่ 16 นี้ด้วย

นอกจากนี้ ภายในงาน ยังได้เปิดตัวเครื่อง FeelFit หรือเครื่องวัดระดับการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เพื่อตรวจวัดค่าการเผาผลาญพลังงาน ระยะเวลาในการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน World Health Organization (WHO) ซึ่งพัฒนาระบบโดยมหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะเดียวกันก็มีการแสดงโขนจากสถาบันคึกฤทธิ์ ซึ่งจะโชว์เปิดงาน ISPAH ครั้งนี้ และการที่ผู้จัดงานได้เลือกโขนมาใช้ เพราะต้องการสื่อให้เห็นว่าโขนไม่ใช่แค่เพียงศิลปะประจำชาติที่มีความอ่อนช้อยงดงามและเข้มแข็ง หากแต่อีกด้านหนึ่ง การละเล่นโขนยังมีการใช้ร่างกาย ใช้แรง กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทั้งขา แขน ผ่านท่าทางต่างๆ โดยท่วงท่าของตัวละครโขนในงานนี้ เป็นการออกท่าทางตัวพระตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง ร่วมถึงการนำเครื่องวัดผลคลื่นสมองที่จะแสดงผลค่าการเปลี่ยนแปลงจากการมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ของทั้ง ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง มาแสดงผลลัพธ์ให้เห็นกันจะๆ ถึงประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกายอีกด้วย

นอกจากความรู้ความเข้าใจที่จะนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันที่จะได้รับจากการเข้าร่วมงาน ยังเป็นอีกก้าวที่สำคัญของวงการสุขภาพอันจะนำไปสู่ทิศทางที่มั่นคงต่อไปของอนาคตชาติบ้านเมือง เทียบเท่าโลกสากล

คนไทยทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจครั้งนี้ได้ ในงานการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ 2559 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

กำลังโหลดความคิดเห็น