สสส. ร่วมคณะวิศวะ ม.มหิดล เปิดตัวเครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกาย “FeelFit®” ชี้วัดผลได้แม่นยำกว่าเครื่องทั่วไปในท้องตลาด แบ่งระดับการมีกิจกรรมทางกายได้ 5 ระดับ โชว์การเผาผลาญแคลอรี จำนวนก้าว ระยะเวลาทำกิจกรรม ช่วยบอกหากเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งนานเกินไป
วันนี้ (18 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมเครื่องวัดกิจกรรมทางกาย “FeelFit®” ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 (ISPAH2016) โดย นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยวารสารวิชาการ The Lancet แสดงข้อมูลบ่งชี้ว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอนำไปสู่การเสียชีวิตในกลุ่มโรค NCDs มากกว่าการสูบบุหรี่แล้ว สำหรับประเทศไทยการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 11,129 คน ในปี 2552
“ขณะเดียวกัน พฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย กลับพบว่า มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลการสำรวจในปี 2555 พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันถึง 13.25 ชั่วโมง กลับเพิ่มขึ้นเป็น 13.54 ชั่วโมง ในปี 2558 โดยพฤติกรรมเนือยนิ่ง 4 อันดับแรกของคนไทยที่ทำติดต่อกันนานกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้งคือ นั่ง/นอนดูโทรทัศน์ นั่งคุยหรือประชุม นั่งทำงาน/เรียน และนั่งเล่นเกม/โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกับสัดส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงคือ จากร้อยละ 28.7 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 34.7 ในปี 2557” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ผศ.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลทางวิชาการและการวัดการมีกิจกรรมทางกายยังมีข้อจำกัดเรื่องวิธีการได้ข้อมูล เพราะเป็นการใช้แบบสอบถาม ขณะที่อุปกรณ์วัดทางกายภาพที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น ข้อมูลเชิงตัวเลขอาจไม่เที่ยงตรง ประกอบกับศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น การำไทย การเล่นโขน ก็ยังไม่มีการศึกษาเฉพาะว่าช่วยให้เกิดกิจกรรมทางกายมากน้อยเพียงใด เกิดเผาผลาญมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น สสส. และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล จึงพยายามคิดค้นเครื่องมือในการวัดกิจกรรมทางกายที่สามารถเกาะติดชีวิตประจำวันของคนได้จริง สามารถนำข้อมูลมากำหนดนโยบายได้ และช่วยสนับสนุนให้ศิลปวัฒนธรรมมีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจนว่าเกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร แบบการเต้นอื่นๆ ในต่างประเทศ เช่น ฮิปฮอป เป็นต้น โดยศึกษาข้อมูลและนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ มาบูรณาการออกแบบเป็นเครื่องมือในการวัดกิจกรรมทางกายที่ได้ผลแม่นยำขึ้น ชื่อ "FeelFit®"
นายเจษฎา อานิล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแบ่งระดับของกิจกรรมทางกายออกเป็น 3 ระดับ ตามค่าการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic Equivalent : MET) โดยระดับเบา Light อยู่ที่ 1.6-2.9 METs ระดับปานกลาง Moderate อยู่ที่ 3.0 - 6.0 METs และระดับหนัก Vigorous คือ มากกว่า 6.0 METs แต่เครื่อง FeelFit สามารถแบ่งระดับได้มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ 1. ระดับเริ่มต้น เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือ การนั่งพักผ่อน จะอยู่ที่ 0 - 2 METs 2. ระดับน้อย เช่น การเดิน ระดับการใช้พลังงานอยู่ที่ 2 - 5 METs 3. ระดับปานกลาง เช่น การเต้นแอโรบิก ระดับการใช้พลังงานอยู่ที่ 5 - 8 METs 4. ระดับมาก เช่น การวิ่งจ็อกกิ้ง ระดับการใช้พลังงานอยู่ที่ 8 - 10 METs และ 5. ระดับมากที่สุด เช่น การเล่นกีฬา ระดับการใช้พลังงานอยุ่ที่ 10 METs ขึ้นไป
“การใช้งานเครื่องดังกล่าว คือ ให้ระบุเพศ ส่วนสูง น้ำหนัก และระบุว่า จะติดเครื่องนี้ไว้ที่ส่วนใด ซึ่งมีให้เลือกคือเอว สำหรับการวัดในชีวิตประจำวันทั่วไป ข้อเท้า ในการปั่นจักรยาน และข้อมือ ในการแกว่งแขน โดยเครื่องนี้จะสามารถแสดงข้อมูลระดับการใช้พลังงานได้ถึง 5 ระดับ ซึ่งถือว่าละเอียดกว่าเครื่องมืออื่นในท้องตลาดทั่วไปและคอยเตือนว่าเรามีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากเกินไปหรือไม่ เช่น หากเราอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานก็จะขึ้นรูปหนังสือ หมายถึงระดับเริ่มต้น แสดงว่าเรามีพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นเวลานานแล้ว เป็นต้น โชว์ค่าแคลอรีเผาผลาญมากน้อยแค่ไหน จำนวนก้าว คำนวณระยะทาง ระยะเวลาในแต่ละกิจกรรมทางกายมีกี่นาที ทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมการมีกิจกรรมทางกายของเราได้ตลอดวัน” นายเจษฎา กล่าวและว่า เครื่อง FeelFit® สามารถใช้ได้ในคนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเนื่องจากมีตัวเลขที่ค่อนข้างใหญ่ ใช้ถ่านนาฬิกาในการให้พลังงาน และได้จดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ในเรื่องของการประมวลผลแล้ว