เปิดผลสำรวจพบ “เด็กทั่วโลก” เนือยนิ่ง กิจกรรมทางกายต่ำ เผย “เด็กสโลวีเนีย” เกรดเฉลี่ยดีสุด ด้าน “เด็กไทย” อยู่ระดับกลางๆ สูงกว่าสหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดา แต่สอบตกเรื่องปล่อยเด็กเล่นกระฉับกระเฉง พบพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน ห่วงประเทศรายได้สูงเด็กยิ่งเคลื่อนไหวน้อย
ดร.มาร์ค เทรมเบลย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน สถาบันวิจัยโรงพยาบาลเด็กออนตาริโอตะวันออก นำเสนอรายงานผลการศึกษากิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน 38 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นผลการศึกษาครั้งที่ 2 ของโลก (The Global Matrix 2.0 on Physical Activity for Children and Youth) ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทงกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (ISPAH 2016) ว่า การศึกษาในครั้งนี้ได้แบ่งโลกออกเป็น 6 ภูมิภาค คือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยอาศัยตัวชี้วัด 9 ตัว เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ คือ 1. การมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวัน 2. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา 3. การเล่นอย่างกระฉับกระเฉง (Active Play) 4. พฤติกรรมเนือยนิ่ง 5. การเดินทางที่ใช้แรงกาย 6. การสนับสนุนจากครอบครัว และบุคคลรอบข้าง 7. โรงเรียน 8. ชุมชน สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และ 9. กลยุทธ์และทุนสนับสนุนจากรัฐบาล
ดร.มาร์ค กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาการมีกิจกรรมทางกายจะแบ่งออกเป็น 11 เกรด ดังนี้ A คือ 81-100% B+ คือ 76-80% B คือ 66-75% B- คือ 61-65% C+ คือ 56-60% C คือ 46-55% C- คือ 41-45% D+ คือ 36-40% D คือ 26-35% D- คือ 21-25% และ F คือ 0-20% ซึ่งผลการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนของทั้ง 38 ประเทศ ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยแต่ละประเทศได้เกรด ดังนี้
โซนอเมริกาเหนือ ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา D- 2. เม็กซิโก C 3. แคนาดา D-
โซนอเมริกาใต้ ได้แก่ 1. บราซิล C- 2. โคลอมเบีย D 3. ชิลี F 4.เวเนซุเอลา D
โซนแอฟริกา ได้แก่ 1. แอฟริกาใต้ C 2. ไนจีเรีย C 3. เคนยา C 4. กานา D 5. ซิมบับเว C+ 6. โมซัมบิก C
โซนเอเชีย ได้แก่ 1. ฮ่องกง D 2. จีน F 3.มาเลเซีย D 4. กาตาร์ F 5.เกาหลีใต้ D- 6.ไทย C 7.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ D- 8. ญี่ปุ่น INC 9. อินเดีย C-
โซนยุโรป ได้แก่ 1. โปแลนด์ D 2. เนเธอร์แลนด์ D 3. เดนมาร์ก D+ 4. เบลเยียม F+ 5. อังกฤษ D- 6. เอสโตเนีย F 7. สโลวีเนีย A- 8. สเปน D- 9. เวลส์ D- 10. สวีเดน D 11. สกอตแลนด์ F 12. โปรตุเกส D 13. ไอร์แลนด์ D 14. ฟินแลนด์ D
โซนโอเชียเนีย ได้แก่ 1. ออสเตรเลีย D- 2. นิวซีแลนด์ B-
“ผลการสำรวจดังกล่าวเรียกได้ว่า การมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนค่อนข้างแย่ โดยภาพรวมโซนเอเชีย อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ถือว่าเกรดค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับโซนยุโรป แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยให้เด็กเล่นอย่างกระฉับกระเฉง ประเทศในเอเชียยังค่อนข้างต่ำมาก และแทบไม่มีการสำรวจพฤติกรรมของเด็กเลย สำหรับประเทศที่ภาพรวมเกรดเฉลี่ยดีที่สุดคือ สโลวีเนียที่ได้ A- ส่วนที่น่าสนใจ คือ ประเทศที่มีรายได้น้อยจะได้เกรดที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศที่มีรายได้สูง เนื่องจากการใช้ชีวิตที่ยุ่ง หรือเร่งรีบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ส่งผลให้เด็กไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จากทั้ง 9 ตัวชี้วัดพบว่า ในแต่ละประเทศมีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละประเทศสามารถมาเรียนรู้และพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กได้ เช่น บางประเทศแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ยังมีกิจกรรมให้เด็กได้ทำ เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกประเทศอยากให้มีความพยายามในเรื่องของการให้เด็กเล่นอย่างกระฉับกระเฉงเป็นพฤติกรรมหลักที่ควรมีในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ทางเลือก อย่าไปกำหนดอะไรมาก ให้เขาได้มีการออกกำลังกายและเรียนรู้ในแบบของเด็กๆ จะดีกว่า” ดร.มาร์ค กล่าวและว่า สำหรับการสำรวจในครั้งที่ 3 หรือ The Global Matrix 3.0 คาดว่า จะเชิญอีกหลายประเทศเข้าร่วมเป็น 75 ประเทศ และมีผลให้ทราบภายในปี 2018
ผศ.เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการศึกษาการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย (Thailand Report Card on Physical Activity for Children and Youth) ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 6 - 17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด 9 ภูมิภาคทั่วประเทศไทยและกรุงเทพฯ โดยภาพรวมประเทศอยู่ในเกรด C แต่เมื่อดูจากตัวชี้วัดทั้ง 9 จะพบว่า การมีกิจกรรมทางกายทั่วไปในแต่ละวันยังอยู่ D- การเล่นอย่างกระฉับกระเฉง ได้ F การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมาก คือ D ขณะที่การเดินทางที่ใช้แรงกายและการสนับสนุนจากครอบครัวและบุคคลรอบข้างค่อนข้างดี คือ B ส่วนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา โรงเรียน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และกลยุทธ์ของรัฐบาลอยู่ระดับกลางๆ คือ C โดยข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กไทยยังขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ นั่งอยู่กับที่ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน จากการนั่งเรียน นั่งเล่นสมาร์ทโฟน การดูโทรทัศน์ ทั้งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเด็กและเยาวชนควรมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 60 นาทีต่อวัน ซึ่ง สสส. จะเข้าไปร่วมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เด็กออกมาเล่นอย่างกระฉับกระเฉงมากขึ้น ผ่านแคมเปญ Kids Active Play โดยเฉพาะการมีกิจกรรมทางกายให้ได้ 60 นาที ต่อวัน เช่น ให้มีกิจกรรมทางกายก่อนเดินทาง และก่อนเข้าเรียนให้ได้รวม 10 นาที ส่วนขณะเรียนจะต้องมีเพิ่มการเคลื่อนไหว เช่น การลุกถามตอบ การเดินเปลี่ยนคาบเรียน ต้องรวมให้ได้ 20 นาที และหลังเลิกเรียนควรมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม เช่น เล่นกีฬา ตรงนี้ให้ได้อย่างน้อย 30 นาที ก็จะได้ตามมาตรฐาน คือ 60 นาทีต่อวัน ที่สำคัญคือครอบครัว ชุมชน และครูต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นด้วย