กรมอนามัย ชี้ นโยบาย “ข้าราชการ” ออกกำลังกายทุกวันพุธ ช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง แนะเพิ่มกิจกรรมทางกายแต่ละวันช่วยสุขภาพดี เร่งเดินหน้าเพิ่มกิจกรรมทางกาย 5 กลุ่มวัย ย้ำ “เด็กปฐมวัย” สำคัญสุด ช่วยร่างกายเจริญเติบโตดี ห่วงวัยรุ่นสาวไม่กิน ไม่ออกกำลัง ทำเตี้ย ผอม ซีด เตี้ยกว่าผู้ชายถึง 13 ซม.
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้วันพุธช่วงเวลา 15.00 - 16.30 น. เป็นเวลาออกกำลังกายของข้าราชการ ว่า การที่นายกฯ มีนโยบายให้ข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธนั้น ก็เพื่อช่วยลดปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่การออกกำลังกายเท่านั้นถึงจะมีสุขภาพร่างกายที่ดีแข็งแรง แต่ประชาชนทั่วไปหากมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ก็ช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้ โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าในเด็กควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง 60 นาทีต่อวัน ส่วนผู้ใหญ่มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งระดับของการมีกิจกรรมทางกายมี 3 ระดับ คือ 1. กิจกรรมทางกายทั่วๆ ไป เช่น การเดิน การเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ 2. ออกกำลังกาย จะมีความหนักมากขึ้น เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นต้น และ 3. กีฬา ซึ่งจะมีความหนักกว่าการออกกำลังกาย
นพ.วชิระ กล่าวว่า กรมฯ ยกร่างยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในช่วง เม.ย. 2560 ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นการมีกิจกรรมทางกายของคน 5 กลุ่มวัย เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มมากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมายว่าคนไทยจะต้องมีกิจกรรมทางเพียงพอร้อยละ 84 ระยะเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งลดลงร้อยละ 10 สำหรับ 5 กลุ่มวัยที่จะเพิ่มกิจกรรมทางกาย ประกอบด้วย 1. แม่และเด็กปฐมวัย กลุ่มนี้หลายคนมองว่าหญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัยช่วง 0 - 5 ขวบ ไม่ควรออกแรง เคลื่อนไหวอะไรมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ การมีกิจกรรมทางกายควรเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยให้แม่และเด็กแข็งแรง แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย ขณะเดียวกัน เด็กทารกที่เกิดมาก็สามารถให้เขาออกกำลังได้ อย่างให้ทารกอายุ 3 - 4 เดือน ก็ให้ฝึกว่ายน้ำได้ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กปฐมวันพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพดี คือ อาหารโภชนาการต้องดี โดยเฉพาะการดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 เดือน แล้วดื่มนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือมากกว่า มีการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ และมีกิจกรรมทางกาย เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว เป็นพัฒนากล้ามเนื้อมัดต่างๆ
นพ.วชิระ กล่าวว่า 2. วัยเรียนและวัยรุ่น กลุ่มนี้น่าเป็นห่วง เพราะมีพฤติกรรมเนือยนิ่งจากการนั่งเรียน เมื่อเลิกเรียนก็นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ ซึ่งจะต้องส่งเสริมเรื่องของลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยออกไปมีกิจกรรมนอกห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ พบว่า วัยรุ่นอายุ 19 ปี ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงมีความสูงต่างกันถึง 13 เซนติเมตร โดยผู้ชายมีความสูงเฉลี่ย 171 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 158 เซนติเมตร เนื่องจากวัยรุ่นหญิงอยากผอมสวย เลยรับประทานน้อยแต่ไม่ออกกำลังกาย ทำให้เจอปัญหาผอมเตี้ยและซีด ซึ่งการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายจะช่วยแก้ปัญหาได้ 3. วัยทำงาน กลุ่มนี้ควรเพิ่มกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น โดยต้องเลือกกิจกรรมทางกายให้เหมาะสมกับการมีกิจวัตรประจำวัน เช่น เพิ่มการเดินมากขึ้น การยืนเซ็นเอกสาร เป็นต้น 4. ผู้สูงอายุ ควรมีกิจกรรมทางกายแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหมมากจนเกินไป และ 5. กลุ่มเฉพาะหรืออาชีพต่างๆ ก็เช่นกันกับวัยทำงานที่ควรมีกิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับลักษณะของงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
“วัยที่สำคัญที่สุด คือ ช่วงปฐมวัย วัยเรียน และวัยรุ่น เพราะถือเป็นต้นทุนชีวิต จึงต้องเน้นการมีกิจกรรมทางกายให้มากในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะปฐมวัย ส่วนวัยทำงานก็มีจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวันและงานของตนเอง และค่อยๆ ลดความหนักของการมีกิจกรรมทางกายลงในวัยสูงอายุ ทั้งนี้ ในส่วนของเด็กปฐมวัย พ่อแม่ พี่เลี้ยง สถานดูแลเด็ก โรงเรียนอนุบาล ถือว่ามีความสำคัญในการดูแลให้เด็กมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศกว่าร้อยละ 90 ต้องเข้ามาส่งเสริมและดูแลในเรื่องนี้ จึงจะประสบความสำเร็จ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว