xs
xsm
sm
md
lg

WHO ตั้งเป้าลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง 10% ลดตายจากโรคไม่ติดต่อทั่วโลก 25% ในปี 2025

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


WHO หนุนเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้ามีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอลดลง 10% และลดอัตราตายจากโรค NCDs ทั่วโลก 25% ภายในปี 2025 เน้นกลุ่มเด็ก - วัยรุ่น หลังพบ 80% เนือยนิ่ง ขณะที่งานประชุม ISPAH 2016 สุดคึกคัก ไทย ท้าผู้ร่วมประชุมไทย - ต่างชาติ วิ่ง BOGIE99

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congress ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก องค์การอนามัยโลก กล่าวในหัวข้อบทบาทการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นทิศทางการพัฒนาของสังคมโลก แม้ว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายจะไม่ได้อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย อย่างน้อย 6 ใน 17 เป้าหมาย เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเมือง การเดินทาง การศึกษา

“การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งทางตรง และทางอ้อม และยังส่งผลต่อไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย จึงเป็นความท้าทายของสังคมไทย โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายของโลก ในการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอลดลง 10% ในปี 2025 และลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2030 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ - ตะวันออก ควรมุ่งลงทุนสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพบว่า 80% ยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการทำงานป้องกันปัญหาในระยาว ที่จะมีผลตอบแทนต่อสังคมสูง” ดร.นพ.ทักษพล กล่าว

ดร.คาซุยูกิ ยูจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานโยบายสาธารณสุข จาก UNDP กล่าวว่า การที่จะทำให้การพัฒนากิจกรรมทางกายเกิดความยั่งยืนได้ ต้องหาแนวร่วมหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทำให้เห็นความสำคัญ และเข้ามามีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งทางด้านทัศนคติ พฤติกรรม ตลอดจนถึงระดับนโยบาย ตัวอย่างเช่น การจัดกีฬาโอลิมปิก เป็นการนำกิจกรรมการทางกายไปใช้เพื่อสร้างสันติภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันริโอเกมส์ ที่ประเทศบราซิล มีการดึงคนกลุ่มน้อย กลุ่มผู้ลี้ภัย กลุ่มเพศทางเลือก ให้เข้ามาร่วมการแข่งขันกีฬา เพื่อส่งสัญญาณให้โลกรับรู้ถึงว่าจะต้องไม่มีการกีดกั้น ไม่แบ่งแยก เพราะการมีกิจกรรมทางกาย หรือกีฬาเป็นเรื่องที่ไม่แบ่งชนชาติ เพศ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมค่านิยมการเคารพกติกา ไม่กีดกั้นแตกแยก UNDP ใช้กีฬาในการพัฒนาและทำงานหลายด้าน เช่น โรนัลโด นักฟุตบอลชื่อดัง เข้ามาเป็นอุปทูต ร่วมสร้างสันติภาพ รวมถึงนำกีฬาไปใช้ฟื้นฟูจิตใจกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในอาเซียน ว่า กิจกรรมทางกายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งการขาดกิจกรรมทางกาย ถือเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญของไทย  โดยสสส. มีแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ซึ่ง สสส. ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานโดยใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลัง คือ พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังทางสังคม ขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมาย ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด โดยมีพื้นฐานสำคัญสองประการ ได้แก่ ความมีคุณธรรม และธรรมาภิบาล เป็นเงื่อนไขกำกับ โดยใช้งบประมาณในการลงทุนด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 6 - 7% ของงบประมาณของ สสส.

“สสส. ทำงานด้านการมีกิจกรรมทางกายระดับบุคคล โดยกระตุ้นให้เกิดกระแสการออกมาเดินวิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการออกกำลังกายที่ง่าย จนเป็นนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เช่น งาน Thai Health Day run2016 ที่เพิ่งมีการจัดกิจกรรมไป ส่วนด้านสถานที่ที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย สสส. ร่วมกับ กทม. ในการปรับปรุงพัฒนาสวนเบญจกิติ ให้เหมาะสมกับการมีกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย หรือ โครงการเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี ที่ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ส ซึ่งร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ในด้านนโยบายที่สนับสนุนกิจกรรมทางกาย สสส. ได้มีการตั้งศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ เพื่อทำงานรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้การสนับสนุนการวิจัยและร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการประชุมระดมสมองร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ ได้มีการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งขับเคลื่อนโดยใช้ยุทธศาสตร์ 5x5x5 คือ 5 กลุ่มวัย ได้แก่ ตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ 5 ด้านการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Sector/Setting approach) คือ 1. ระบบการศึกษา 2. ระบบธุรกิจ/สถานประกอบการ 3. สวนสาธารณะ นันทนาการ สถานออกกำลังกาย และกีฬามวลชน 4. สถานพยาบาลในระบบสาธารณสุข 5. คมนาคมขนส่ง ผังเมือง และชุมชน และ 5 ระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (Supporting System) คือ 1. กระบวนการ 2. วิจัย 3. ติดตามประเมินผล 4. พัฒนาศักยภาพ 5. การรณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กในโรงเรียน และ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้มีการลงทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์การเพิ่มกิจกรรมทางกาย

ขณะที่บรรยากาศในการประชุม ISPAH 2016 วันที่สอง เป็นไปอย่างคึกคัก โดยในช่วงเย็น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นผู้นำในการท้าผู้เข้าร่วมประชุมในกิจกรรม Bogie99 running challenge ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ นายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น สำหรับกิจกรรม bogie99 5K challenge เป็นการวิ่งขบวนรถไฟ ระยะทาง 5 กม.  จำนวน 99 คนขึ้นไป มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย และการแบ่งปัน



กำลังโหลดความคิดเห็น