xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพฤติกรรม “คนต่างเจน” คิดเห็นเชื่อต่าง “เจนวาย” แต่งงานช้า ไม่อยากมีลูก แต่มีเซ็กซ์ไวขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดพฤติกรรมคนต่างเจนในไทย “เจนวาย” แต่งงานช้า ไม่อยากมีลูก แต่มีเซ็กซ์ไวขึ้น ใส่ใจสุขภาพน้อยกว่าเจนอื่น “เบบี้บูม” เคารพกติกา แต่ยอมรับความหลากหลายได้น้อย นักวิชาการ ชี้ เกิดและเติบโตคนละยุค คนละบริบท ทำความคิด พฤติกรรมแตกต่าง แนะเข้าใจและยอมรับ ช่วยอยู่ร่วมกันในบ้าน สังคม ที่ทำงาน ได้ดีขึ้น

วันนี้ (29 ก.ย.) ที่ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ  ในงานแถลงข่าว “เข้าใจพฤติกรรมต่างเจน ผ่านตัวชี้วัดสุขภาพคนไทย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า หากแบ่งสัดส่วนประชากรของประเทศไทยตามรุ่นหรือตามเจเนอเรชัน พบว่า คนเจนเอ็กซ์ (เกิดปี 2504 - 2524) มีจำนวนสูงสุดคือ 23 ล้านคน ตามด้วยคนเจนวาย (เกิดปี 2525 - 2548) จำนวน 22 ล้านคน เบบี้บูมเมอร์ (เกิดปี 2486 - 2503) จำนวน 11.7 ล้านคน หลังเจนวาย (เกิดปี 2549 เป็นต้นไป) ประกอบด้วย กลุ่มเจนแซด เจนแอลฟา และเจนซี จำนวน 7.8 ล้านคน และ กลุ่มไซเลนต์เจน (เกิดปี 2468 - 2485) จำนวน 3.3 ล้านคน ซึ่งคนแต่ละเจนมีการเกิดและเติบโตมาในบริบทที่แตกต่างกัน จึงส่งผลต่อพฤติกรรม ค่านิยม และทัศนคติที่แตกต่างกัน และมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพที่ต่างกันด้วย

ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า จากการทำรายงานสุขภาพคนไทยปี 2559 โดยเน้นศึกษาถึงพฤติกรรมสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมของคนแต่ละเจน พบว่า พฤติกรรมทางสังคม คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ 70 - 80% แต่งงานก่อนอายุ 30 ปี ส่วนกลุ่มเจนเอ็กซ์ และวาย แต่งงานช้าลง ครองตัวเป็นโสดมากขึ้น เนื่องจากโอกาสทางสังคมผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในการทำงานนอกบ้าน โดยเฉพาะเจนวายเรียกได้ว่าไม่มีลูกกวนตัว ไม่มีคู่ครองกวนใจ คือ แต่งงานช้ามาก และไม่ต้องการมีบุตร ใช้ชีวิตมีความอิสระมากขึ้น มากกว่า 1 ใน 3 ใช้ชีวิตอยู่คอนโดมิเนียม อัตราการย้ายถิ่นสูง ซึ่งต่างจากเบบี้บูมเมอร์ หรือ เจนเอ็กซ์ ที่ 80% อาศัยอยู่บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์

“การเข้ามาของเทคโนโลยีมีผลต่อพฤติกรรมคนแต่ละเจนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคนเจนวายที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าชัดเจน ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงได้มาก โดยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์เฉลี่ย 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมักใช้เพื่อความบันเทิงถึง 83% ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ใช้ประมาณ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และใช้เพื่อติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ทำให้ยอมรับความหลากหลายได้น้อย แต่เป็นกลุ่มที่เคารพกติกาสูงที่สุด และการเติบโตมาในบริบทเช่นนี้ ทัศนคติที่คนเจนเอ็กซ์ และ เบบี้บูมเมอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายจ้าง หรือสถานประกอบการ มักมองคนทำงานเจนวาย ว่า เอาแต่เล่นโทรศัพท์ มารยาทไม่ดี เปลี่ยนงานบ่อย ไม่มีความอดทน ขณะที่คนเจนวายมองตัวเองว่าสามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกัน ค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ยืดหยุ่นได้สูง ส่วนเรื่องหลักประกันรายได้ยามชรากลุ่มเจนเอ็กซ์และวาย จะสูงกว่ารุ่นเบบี้บูมเมอร์” ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว

ผศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมการบริโภค คนเจนวายใช้จ่ายกับอาหารสูงสุดถึงร้อยละ 77 ของรายจ่างทั้งหมด เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือซื้ออาหารสำเร็จมากขึ้น รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือนมากที่สุดถึง 38% ส่วนพฤติกรรมสุขภาพ พบว่า หากใช้อายุเริ่มต้นของการมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพเป็นตัวชี้วัด คนเจนเอ็กซ์ และวาย จะมีพฤติกรรมเสี่ยงเร็วกว่าคนรุ่นก่อน ทั้งการเริ่มสูบบุหรี่ เริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเริ่มการมีเพศสัมพันธ์ ในอายุที่ลดลง โดยเจนวายในเขตเมือง มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ย 15 ปี และจำนวนคู่นอนเฉลี่ยในผู้หญิงสูงขึ้น โดยวัยรุ่นหญิง 15 - 19 ปี จำนวนคู่นอนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 คน เท่ากับวัยรุ่นชาย ขณะที่กิจกรรมทางกายก็ลดลงด้วย โดยเจนวายมีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุดเพียง 1.14 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มเจนวายของไทยมีความแตกต่างกับเจนวายชาติตะวันตก โดยพบว่ามีความคิดเพื่อสังคมส่วนรวมน้อยกว่า และใส่ใจสุขภาพน้อยกว่า ความรู้เท่าทันสื่อก็ยังน้อย

รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า คนแต่ละยุคเกิดและเติบโตในบริบทที่แตกต่างกัน จึงมีวิธีคิดและความเชื่อต่างกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ที่ทำงาน หรือในสังคม ประเด็นสำคัญคือ เข้าใจความแตกต่างของคนแต่ละรุ่น ซึ่งแม้แต่คนในรุ่นเดียวกันยังมีความแตกต่าง นอกจากนี้ ยังต้องยอมรับความแตกต่างให้ได้ด้วย และไม่ควรคาดหวังให้คนแต่ละรุ่นต้องคิดเหมือนกัน อย่างที่คนเจนวายนิยมใช้สมาร์ทโฟนแทบตลอดเวลาจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะโตมากับบริบทแบบนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะหากตามกระแสโลกไม่ทันที่มีการเปลี่ยนแปลงไว ก็จะตกเทรนด์ได้ พัฒนาตัวเองต่อไปไม่ได้ ซึ่งในอนาคตต้องการคนที่พัฒนาตัวเองให้มีหลายทักษะ การทำงานในองค์กร คนเจนเอ็กซ์ หรือ เบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารหรือนายจ้าง ก็ต้องดึงเอาจุดแข็งของเจนวายเช่นนี้ที่ทำงานได้หลากหลายในเวลาเดียวมาใช้ประโยชน์ ปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อจูงใจในการทำงาน เช่น ไม่ต้องตอกบัตรเข้างาน ไม่ถูกตีกรอบจนเกินไป รูปแบบการทำงานจึงไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว เป็นต้น




ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
กำลังโหลดความคิดเห็น