หมอเตือน “สามี” คิดมีเซ็กซ์กับ “ภรรยา” ขณะตั้งครรภ์ ระวังอย่าให้ถูกยุงกัด เสี่ยงรับเชื้อ “ซิกา” แฝงตัวในอสุจินานถึง 6 เดือน โอกาสแพร่เชื้อถึงภรรยาและเด็กในท้องสูงมาก แนะสวมถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง
วันนี้ (21 ก.ย.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดอบรม “การเตรียมความพร้อมด้านการวิจัย ดูแลรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease)” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคไวรัสซิกา โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สธ. มีมาตรการป้องกันโรคซิกาอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้สามารถควบคุมได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หากมีการแพร่เชื้อมากกว่านี้ก็ต้องหามาตรการให้วินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยว่า เชื้อสามารถแพร่จากคนสู่คนด้วยวิธีการใดได้อีกบ้าง เพราะแม้ว่าจะไม่พบเชื้อในตัวผู้ป่วยแล้ว แต่ภายใน 1 เดือน ในร่างกายยังมีสารคัดหลั่งอยู่ อาจมีการฟื้นตัวของเชื้อและนำไปแพร่สู่ผู้อื่นได้ ส่วนการป้องกันโรคนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมตามนโยบาย 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ จะเป็นการตัดวงจรยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคได้ดีที่สุด
พญ.พจมาน ศิริอารยาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มสอบสวนตอบโต้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) สธ. กล่าวว่า การตรวจโรคซิกานั้น สามารถทำได้ 2 ทาง คือ การตรวจผ่านปัสสาวะและเลือด ซึ่งต้องตรวจควบคู่กันทั้งสองอย่าง เพราะแม้จะพบเชื้อทางปัสสวะมากกว่าเลือด แต่ผู้ป่วยบางรายก็ตรวจพบในเลือด สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจตกอยู่ที่ประมาณ 1,500 - 2,000 บาทต่อราย ที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยา ใช้งบประมาณในการตรวจทั้งหมด 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถตรวจทุกคนได้ ต้องตรวจในผู้ป่วยยืนยัน และญาติที่อยู่ในบ้านเดียวกัน รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในละแวกที่พบเชื้อเท่านั้น ทั้งนี้ เชื้อจะสามารถเพาะตัวได้ใน 28 วัน ผู้ป่วยปกติจึงต้องมีการตรวจซ้ำในระยะ 1 เดือน ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ต้องมีการตรวจเรื่อย ๆ เพราะบางรายตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน แต่ยังตรวจพบเชื้ออยู่
“ขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 33 ราย ในพื้นที่ที่พบการระบาด และพบว่า มี 1 ราย ที่ทารกอาจมีศีรษะเล็ก แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ ต้องรอให้คลอดออกมาก่อนจึงวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ ขอเตือนสามีที่จะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ต้องระวังไม่ให้ถูกยุงกัด และมีการสวมถุงยางอนามัย เพราะหากติดเชื้อซิกา เชื้อจะสามารถอยู่ในอสุจิได้นานถึง 6 เดือน และมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้สูง” พญ.พจมาน กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่