xs
xsm
sm
md
lg

กูรูแนะรัฐหนุนพลังงานหมุนเวียน ดันไทยเป็นผู้นำพลังงานอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กูรูพลังงานหมุนเวียน แนะรัฐบาลเร่งออกนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ดันไทยเป็นผู้นำพลังงานอาเซียน แฉ สิบปีที่ผ่านมากลุ่มการเมืองใช้เป็นนโยบายเอื้อคอร์รัปชัน ขณะที่ “ผู้บริหาร SPCG” ย้ำ ความสำเร็จพัฒนาโซลาร์เซลล์ช่วยสร้างความมั่นคงพลังงานชาติ

วันนี้ (6 ก.ย.) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนาเรื่อง “อนาคตพลังงานหมุนเวียนไทยกับทิศทางพลังงานภูมิภาคอาเซียน” เพื่อเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นถึงทิศทางพลังงาน และแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนในอนาคตว่าจะไปในทิศทางใดต่อไป

นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ มองถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ บนโลกใบนี้ รวมถึงในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีการซื้อขายได้จริง ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าแล้ว เห็นได้จากข้อมูลราคาพลังงานทดแทนใน 16 ประเทศ จาก 6 ทวีปทั่วโลก ปัจจุบันราคาพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.70 - 3.30 บาทต่อหน่วย ส่วนพลังงานลมราคาอยู่ที่ 1.10 - 3.50 บาทต่อหน่วย หากเทียบกับพลังงานหลักที่ใช้ในปัจจุบัน พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกกว่า

สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 - 2556 มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการขายพลังงานเข้าสู่ระบบของไทยที่มีมากสุดในภาคกลาง รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ในทางกลับกันนโยบาย แผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลปี 2558 - 2579 ที่รัฐบาลอนุมัติเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ได้กำหนดว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ เพิ่ม อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากที่ผ่านมาไทยทำลายสถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าเลยจุดสูงสุดหลายครั้ง เห็นได้จากเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558 มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 29,619 เมกะวัตต์ แต่หากเทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่สามารถรองรับได้ถึง 40,932 เมกะวัตต์ ซึ่งตรงนี้มีค่าส่วนต่าง 11,313 เมกะวัตต์ ฉะนั้น จึงมองว่าตรงนี้ไทยยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพียงพออยู่

“อีก 10 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปี 2558 - 2568 รัฐบาลจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 25 แห่ง ซึ่งจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.75 บาทต่อหน่วย เพิ่มเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย โดยราคานี้ไม่นับรวมภาษีอื่นเพิ่มเติม แต่ศักยภาพการผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยยังเพียงพอต่อจุดสูงสุดในการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่การดำเนินการขึ้นอยู่ที่ว่าส่วนราชการจะทำหรือไม่นั้น”

ทั้งนี้ ปัญหา 10 ปีที่ผ่านมาของไทยกับนโยบายการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนตัวมองว่าเป็นนโยบายการคอร์รัปชัน รูปแบบหนึ่ง คือ 1. การรับซื้อมีการกำหนดปริมาณเฉพาะและเปิดเป็นรอบ ๆ โดยไม่ยอมให้เปิดแบบรับซื้อเสรี จึงทำจำนวนการรับซื้อพลังงานทดแทนไม่มีความแน่นอน 2. ราคารับซื้อถูกกำหนดโดยฝ่ายการเมือง และไม่ยอมเปิดให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาราคากลาง จึงทำให้การปรับราคาไม่โปร่งใส 3. การอนุมัติโครงการต่าง ๆ ยังคงมีความล่าช้าในการพัฒนาทางธุรกิจ จึงทำให้ภาพรวม 3 นโยบายดังกล่าวเอื้อต่อการคอร์รัปชัน และการใช้พลังงานทดแทนในอนาคตไทยยังติดอยู่กับรูปแบบการทำอุตสาหกรรมแบบเดิม ดังนั้น ควรต้องปรับตัวเพื่อให้เท่าทัน เช่น กลางวันใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ส่วนกลางคืนใช้พลังงานชีวมวล ถ้าตอบปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็จะแก้ปัญหาพลังงานฟอสซิลในอนาคตได้

ด้าน นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนรายแรกในประเทศไทย อธิบายว่า พลังงานเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคน ซึ่งในไทยเริ่มมีการประกาศรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนครั้งแรกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ทางด้านพลังงานของประเทศ

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านไทยมีการพัฒนา และนำไปสู่การพึ่งตนเอง คือ ประชาชนที่มีความรู้ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้เอง หรือ solar roof top และเชื่อมั่นว่า แนวทางการพัฒนาการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในชนบท และเป็นพลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคงแก่ประเทศในอนาคต คาดว่า ไทยจะสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ถึงปีละกว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์ เพราะอนาคตไม่เกิน 3 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคของพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน เพราะจะต้องเป็นโจทย์การใช้พลังงานของประเทศอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ นายธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า ประเด็นพลังงานที่ผ่านมาในไทยมีการถกเถียงเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะถึงแม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะโตเร็วมากในอาเซียน แต่พลังงานฟอสซิลยังคงมีสัดส่วนการใช้ที่มีอยู่มาก เห็นได้จากประเทศในแถบยุโรป จีน อินเดีย ยังคงใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นหลักในการผลิตพลังงานอยู่ ทั้งนี้ จากแผนความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน ที่มีแนวโน้มการประหยัดพลังงานในทางที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นเสาหลักในการดำเนินการเรื่องนี้มาพอสมควร ดังนั้น คิดว่า หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ของไทยควรพัฒนาเรื่องพลังงานหมุนเวียนให้เกิดการขยายตัวในอาเซียน

กำลังโหลดความคิดเห็น