หลวงปู่พุทธะอิสระเตรียมนำข้อถาม:ตอบปัญหาพลังงานชาติเสนอ “คสช.” ภายใน 1-2 สัปดาห์ แย้มอาจเปิดเวทีถาม:ตอบพลังงานทดแทนและไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกเนื้อหาที่ภาคประชาชนสงสัย มั่นใจจะทำให้การปฏิรูปของ คสช.เดินหน้าต่อไปได้ ยันไม่ได้เปิดเวทีให้ ปตท.ฟอกตัวเอง เล็งให้ฝ่าย กม.ดูกรณีท่อก๊าซฯ หากพบเอกสารเป็นข้อมูลเท็จ และผิดจริงอาจต้องส่งเรื่องดำเนินคดี
วันนี้ (27 ส.ค.) สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “ถาม:ตอบปัญหาพลังงานชาติ” ที่สโมสรทหารบก โดยเชิญตัวแทนกระทรวงพลังงานและ บมจ.ปตท. และเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ฝ่ายละ 10 คนขึ้นเวทีเพื่อถามและตอบ ซึ่งมีหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อมน้อย ทำหน้าที่ดำเนินรายการ ซึ่งได้มีการเปิดถามตอบตั้งแต่ 09.00-15.30 น. หรือรวมเวลากว่า 6 ชั่วโมงโดยไม่มีพักเบรก และเวทีดังกล่าวมีการระดมกำลังตำรวจและทหารกว่า 100 นายมารักษาความปลอดภัยโดยมีผู้มาร่วมรับฟังจำนวนมาก
สำหรับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เช่น นายวีระ สมความคิด, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา, ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี, นางบุญยืน ศิริธรรม เป็นต้น ขณะที่ตัวแทนฟากกระทรวงพลังงานและ บมจ.ปตท. ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท., นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท., นายเทวินทร์ วงษ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ., นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นต้น
หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อมน้อย จ.นครปฐม กล่าวหลังการจัดเสวนาเสร็จสิ้นแล้วว่า จะรวบรวมประเด็นถามตอบเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการของทุกฝ่ายเพื่อสรุปเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า ดังนั้นพลังงานส่วนที่เป็นฟอสซิลน่าจะมีข้อยุติได้แล้ว ส่วนพลังงานทางเลือกรวมถึงไฟฟ้าที่มีการเสนอให้จัดเวทีอีกรอบนั้นจะกลับไปพิจารณาที่อาจจัดเวทีลักษณะนี้ขึ้นอีกรอบ ซึ่งจากนี้ไปก็หวังว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับ คสช.ได้ปฏิรูปพลังงานให้เดินไปข้างหน้าได้ เพราะที่ผ่านมาทำอะไรได้ยากเพราะต่างฝ่ายต่างก็เถียงกัน
“กรณีที่จะมีการฟ้องร้องเรื่องโอนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลหรือไม่อะไรพวกนี้ขอให้เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรก่อนแล้วจะให้ฝ่ายกฎหมายและนิติกรมาดูว่าข้อมูลใดชัดเจน เป็นเท็จซึ่งหากเห็นว่าทำได้ก็จะต้องดำเนินการ วิวาทะปัญหาพลังงานหลังจากเวทีนี้แล้วเชื่อว่าในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อว่าน่าจะยุติได้ในส่วนของพลังงานฟอสซิล ดังนั้นผู้ที่จะไปเคลื่อนไหวเที่ยวได้พูดข้างนอกทั้งที่เราได้จัดเวทีนี้ให้แล้วกลับไม่มาก็เท่ากับไม่จริงใจที่จะร่วมปฏิรูป เพราะการจัดครั้งนี้เราได้แจ้งทุกฝ่ายครบถ้วน” หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าว
ส่วนกรณีมีการระบุว่าตนจัดเวทีนี้มาเพื่อฟอกตัวให้ “ปตท.” นั้นยืนยันว่าไม่เคยกินข้าว หรือแม้แต่น้ำเพียงแก้วเดียวของ ปตท. หลวงปู่ไม่ได้สู้เพื่อให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในแผ่นดินนี้ชนะ สู้เพื่อต้องการให้คนไทยชนะ บ้านเมืองชนะนั่นคืออุดมการณ์ของหลวงปู่
สำหรับบรรยากาศของการถาม:ตอบ ซึ่งหลวงปู่กำหนดกติกาให้ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนเป็นผู้ตั้งคำถามและฝ่ายกระทรวงพลังงานและ ปตท.เป็นผู้ตอบ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามแรกเป็นของนายวีระ สมความคิด กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน ซึ่งก็ยังคงมุ่งไปที่ประเด็นการแยกท่อก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะการทวงถามท่อก๊าซในทะเลที่ควรต้องโอนมาด้วย โดยตัวแทนจาก ปตท.ยังคงยืนยันการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดโดยเน้นที่การใช้อำนาจเวนคืนที่เป็นมหาชนและการใช้เงินลงทุนก่อน ปตท.แปรรูปซึ่งท่อในทะเลไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าวจึงถือเป็นของ ปตท. แต่ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนก็ย้ำว่าท่อในทะเลเป็นของแผ่นดิน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า ปตท.ไม่เคยนำหนังสือท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งแนบให้ศาลฯ ได้รับทราบ ปตท.ชี้แจงว่ามีหนังสือจาก สตง.ไปหลายฉบับซึ่งไม่มั่นใจว่าได้ทุกฉบับหรือไม่ และศาลฯ เองได้บันทึกส่งไปยัง สตง. และที่ผ่านมา สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดๆ ในรายงานประจำปีการตรวจสอบบัญชี ปตท. อย่างไรก็ตาม ประเด็นท่อมีข้อโต้แย้งอย่างหนักจนกระทั่งหลวงปู่ต้องออกโรงระบุว่าถ้าใครโกหกเดี๋ยวจะนำเรื่องฟ้องศาลฯ ทวงคืนเอง
ต่อมาประเด็นที่ถกเถียงรองเป็นประเด็นการถามถึงการใช้แอลพีจีของปิโตรเคมีของ ปตท.ที่ใช้ราคาต่ำกว่ารายอื่นๆ และมีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้จัดสรรปิโตรเคมีก่อน จากนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โดย ปตท.ชี้แจงว่า ราคาแอลพีจีเฉลี่ยปี 2556 เมื่อรวมที่ซื้อจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นอยู่ที่ 22.85 บาทต่อ กก. ไม่รวมภาษีฯ และเงินกองทุนน้ำมันฯ โดยไม่ได้ถูกกว่าแอลพีจีภาคอื่นๆ และการจัดสรรนั้นก็ไม่ได้ถูกระบุว่าให้เป็นปิโตรเคมีก่อนเพราะให้จัดสรรภาคครัวเรือนด้วย และต้องเข้าใจถึงที่มาอุตสาหกรรมนี้ที่รัฐบาลวางเป้าหมายพัฒนาประเทศจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ได้แย้งว่า ราคา 22.85 บาทนั้น เป็นราคาเฉลี่ยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อ และไม่ควรเอามาเฉลี่ยกัน เนื่องจากแต่ละบริษัทก็ใช้เงินคนละกระเป๋า ซึ่งในข้อเท็้จจริงปรากฏว่า บริษัทลูกของ ปตท.เช่น พีทีที จีซี หรือ เอ็ชเอ็มซี ซื้อในราคาเพียง 19 บาท ขณะที่บริษัทอื่น เช่น บริษัทในเครือเอสซีจี ซื้อในราคา 30 กว่าบาท ปตท.ต้องอธิบายประเด็นนี้ด้วย