นายกฯ เป็นประธานประชุม “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0” ร่วมกับอธิการบดี 27 มหาวิทยาลัยของรัฐ ห่วงงานวิจัยทำยังไงตอบโจทย์ส่วนใหญ่ของประเทศ และขายได้มูลค่า ด้านมหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 27 แห่งเสนอปรับบทบาทมหาวิทยาลัย การสร้างคน การสร้างรากแก้วทางเทคโนโลยี และจัดกลุ่มใหญ่ต่อสู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก
วันนี้ (15 ส.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร เมื่อเวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ร่วมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 27 แห่ง และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วม
โดยภายหลังการประชุม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ แถลงผลการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมในลักษณะของการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมหาวิทยาลัย ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 นั้นเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่จะสามารถทำได้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจพร้อมกับโครงสร้างการวิจัยและพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งก็คือการปฏิรูปคนและการคึกษา โดยผ่านบทบาทมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 27 แห่งได้นำเสนอที่ประชุม 3 ประเด็น คือ 1. ไทยแลนด์ 4.0 จะเดินหน้าไปได้นั้น ต้องปรับบทบาทมหาวิทยาลัยในการวิจัย และการสร้างคน 2. มหาวิทยาลัยจะตอบโจทย์ได้ต้องเปลี่ยนแปลงในเรื่องรากแขนง ที่แต่เดิมเราไม่มีรากแก้วในองค์ความรู้เทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องเป็นตัวหลักในการสร้างรากแก้วของเทคโนโลยีให้ประเทศ โดยมีโรดแมปในการพัฒนาชัดเจน ตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี และ 20 ปีจากนี้ไป โดยโรดแมปนี้จะต้องตอบโจทย์ปัญหาของสังคม เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัย ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือปัญหาพลังงาน เป็นต้น และ 3. ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศจะจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ มหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยเพื่อไปต่อสู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับโลก มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และสุดท้ายมหาวิทยาลัยชุมชุน ที่ตอบโจทย์ระดับภูมิภาค และชุมชน โดยจะมีการจัดระเบียบ และแบ่งงานกันทำเพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวหลัก โดยประสานงานกับ รมว.ศึกษาธิการ รมว.คลัง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รมช.พาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์จากที่ประชุมวันนี้ ให้นำไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
“ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยว่างานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศนั้นจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค และชุมชน รวมถึงงานวิจัยที่ให้สามารถให้ขายได้ เพื่อสร้างมูลค่า และสร้างรายได้ให้ประชาชนส่วนใหญ่” นายสุวิทย์กล่าว