xs
xsm
sm
md
lg

กสม.แนะ ครม.พิจารณาร่าง กม.ปิโตรเลียมของ คปพ.ร่วม - เปิดศูนย์ข้อมูลพลังงานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ เผยข้อเสนอปมพลังงาน แนะ ครม.ปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้เป็นที่ยอมรับทุกส่วน และทันสถานการณ์ หาข้อตกลงร่วม หนุนนำร่าง กม.ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานประกอบ พร้อมพิจารณานโยบายรัฐให้สอดคล้องเป้าสหประชาชาติ เร่งทำแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เปิดศูนย์ข้อมูลพลังงานชาติ

วันนี้ (11 พ.ย.) นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า จากการที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีเกี่ยวกับพ.ร.บปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมถึงนโยบายของรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานของประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ สิทธิมนุษยชน ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่ขยายตัวมากขึ้น

กสม.ได้ดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงานเพื่อจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาทรัพยากรพลังงานของประเทศไทย และได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ศึกษาเอกสาร และความเห็นทางวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับพลังงานปิโตรเลียมกับความรับผิดชอบต่อสังคมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งได้เชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลประกอบการพิจารณา พบว่ากฎหมายว่าด้วยการจัดการพลังงานปิโตรเลียม เป็นกฎหมายที่บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว มีบางมาตราไม่เหมาะกับสถานการณ์ เช่น ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีข้อจำกัด การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผลกระทบ รวมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายของประเทศที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขาดการสื่อสารข้อมูลด้านทรัพยากร การปฏิรูปพลังงานที่เป็นระบบครบถ้วนรอบด้าน และเป็นภาษาที่เข้าใจยาก ขาดการ มีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความเห็นอย่างเปิดกว้าง ขาดการกำหนดนโยบายกำกับกิจการตามหลักธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ กสม.จึงได้มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล 1. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม พ.ร.บปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและ มุ่งหาแนวทางการแก้ปัญหาด้านพลังงานที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน ด้วยการนำร่างกฎหมายของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ... ด้วย และหากไม่สามารถดำเนินการได้ ควรพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อนำมาทบทวนใหม่

2. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณานโยบายของรัฐให้สอดคล้องกับหลักการซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) เช่น การกำกับดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจัดการพลังงานปิโตรเลียม ให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) รวมถึงเร่งให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักการของ ข้อตกลงโลก (Un Global Compact : UNGC) และหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและ สิทธิมนุษยชน (United Nation Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGP) ตลอดจนจัดให้มีศูนย์ข้อมูลกลางด้านพลังงานแห่งชาติที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์คาดการณ์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานตามมาตรฐานสากลอย่างเป็นเอกภาพ ถูกต้องเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนและเตรียมพร้อมรับวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต เพื่อส่งเสริมการเข้าถึง รับรู้ความสำคัญประเด็นปัญหาพลังงานของชาติ อย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อสร้างความไว้วางใจของประชาชน โดยคำนึงถึงการสร้างความโปร่งใสและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารปิโตรเลียมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม.และดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ย่อมทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน และความพยายามที่จะร่วมสร้างกลไกป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดการพลังงานที่ได้ประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชน อันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น