xs
xsm
sm
md
lg

ยูนิเซฟท้าให้ลอง นมแม่ มีดีกว่าอิ่มและโตแค่ 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อิทธิพลโฆษณานมผงทำพ่อแม่ไทยเมินความสำคัญนมแม่ ผลคือเด็กไทยได้รับนมแม่แค่ร้อยละ 12 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ด้านหมอเด็กหมอสูตินำเสนอผลการศึกษา ชี้ นมแม่ทำให้เด็กไอคิวสูงขึ้น เชิญชวนให้ทุกคนร่วมสนับสนุนกฎหมายควบคุมการตลาดนมผง

เวลาประมาณสิบเอ็ดโมง จันทิพา พูดเพราะ กำลังลุกขึ้นจากเตียงพักฟื้นหลังคลอด คุณพยาบาลประจำห้องคลอดของโรงพยาบาลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กำลังนำน้องออโต้มาให้คุณแม่ป้อนอาหารเที่ยง นั่นคือ “นมแม่” การให้นมครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกที่คุณแม่ได้ให้นม คือ ตอนที่ลูกชายลืมตาดูโลกเมื่อประมาณตีหนึ่งที่ผ่านมา

แม้ว่านี่จะไม่ใช่ประสบการณ์ครั้งแรกของคุณจันทิพาที่ได้ให้นมแม่กับน้อง แต่คุณแม่ลูกสาม วัย 25 ปีกล่าวว่า เธอรู้สึกอิ่มใจทุกครั้งที่ได้ให้นมแม่กับลูกของเธอทุกคน และครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง คือ เธอกำลังจะเป็นแม่บ้านเต็มตัว เพื่อเลี้ยงน้องออโต้ และเพื่อให้นมแม่มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ คุณจันทิพา เชื่อว่า นมแม่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรง และมีพัฒนาการที่ดี และตนเองก็เติบโตมากับการที่คุณแม่เลี้ยงตนด้วยนมแม่เช่นกัน

ถึงแม้ว่าคุณแม่ยุคใหม่อย่างจันทิพาจะหันมาสนใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของนมแม่ว่าดีต่อลูก แต่ในความเป็นจริงมีเด็กทารกไทยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กมีสุขภาพและพัฒนาการที่ดี และจะช่วยสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของชาติ หลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยองค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนหลังคลอด และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปี หรือมากกว่านั้น

“นมแม่ไม่ได้เพียงแค่ทำให้อิ่มและโต การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการ ความสัมพันธ์แม่ - ลูกและความอบอุ่นจากการโอบกอดของแม่” นายแพทย์ ธนกร ศรัญภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิหารแดง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสายใยรักระดับทองของไทยกล่าว

ในฐานะสูตินรีแพทย์ นพ.ธนกร กล่าวว่า นมแม่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามิน และเกลือแร่ที่ทารกต้องการในการเจริญเติบโตในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารใด ๆ แต่ปัจจุบัน คนไทยยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยมาก ทารกจำนวนมากได้รับอาหารทดแทนนมแม่และน้ำเปล่าซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่านมแม่ ทำให้ทารกได้ดื่มนมแม่น้อยลง สถิติร้อยละ 12 ของไทย น้อยกว่าสถิติจากทั่วโลกที่มีทารกเพียงร้อยละ 43 เท่านั้น ที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น ปัจจุบันหลายคนยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่ และยังมีแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ยังให้คำแนะนำว่าให้หยุดนมแม่ หรือเสริมนมผงแก่ลูกหลัง 6 เดือน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนี้ แต่ในความเป็นจริง นมแม่หลัง 6 เดือน ยังมีประโยชน์สำหรับลูก ไม่ว่าจะเป็นด้านสารอาหาร ภูมิคุ้มกันโรค และสารที่ช่วยพัฒนาสมอง ในช่วง 6 - 12 เดือน นมแม่ยังเป็นอาหารหลักของลูก และมีอาหารตามวัยเสริมเพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารตามที่ทารกต้องการ และหลัง 12 เดือน อาหารทั่วไปกลายเป็นอาหารหลัก และนมแม่เสริม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ งานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ท พบว่า การกินนมแม่ที่นานขึ้นมีผลต่อไอคิวของเด็ก โดยสามารถช่วยเพิ่มระดับไอคิวได้ถึง 3 - 4 จุด และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคติดเชื้อต่าง ๆ และลดอัตราการตายของทารก อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย มีเด็กเพียงร้อยละ 18 ที่ได้กินนมแม่จนอายุสองขวบตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ

อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม คือ การโฆษณาและการส่งเสริมการขายนมผงที่เห็นได้ทั่วไป ซึ่งทำให้แม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์นมผงจะช่วยให้เด็กฉลาดและแข็งแรง และตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาให้ลูกแทนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

กรณีการตลาดและการส่งเสริมการขายนมผง สมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) และประเทศสมาชิก ได้มีมติรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast Milk Substitutes หรือ Code) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ซึ่งกำหนดไว้เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กทุกคนให้เด็กได้กินนมแม่ เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2553 สมัชชาอนามัยโลกได้มีมติเพิ่มเติม ให้แต่ละประเทศปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ ให้เป็นกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินการมีความเข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันมี 37 ประเทศทั่วโลกที่ออกกฎหมายครอบคลุมหลักการของ Code ทั้งหมด และอีก 47 ประเทศที่ออกกฎหมายครอบคลุมหลักการของ Code ส่วนใหญ่

สำหรับประเทศไทย แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่” ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 และปรับปรุงเรื่อยมาจนถึง “หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551” แต่ยังไม่มีการทำหลักเกณฑ์เป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้บริษัทผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้

สายรุ้ง น้อยอินทร์ คุณแม่ลูกสามวัย 36 ปี ยอมรับว่า ตนเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเลี้ยงลูกด้วยนมผง โฆษณาโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเธอมาก ประกอบกับที่ตนเองต้องออกไปค้าขายนอกบ้าน ไม่มีเวลาดูแลให้นมลูกอย่างเต็มที่เมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคนมผงกระป๋องไม่ใช่น้อย คุณแม่ยังสาวเล่าว่า แต่ละเดือนเธอต้องซื้อนมผงตกเดือนละประมาณ 4,000 - 5,000 บาท เมื่อตั้งครรภ์ลูกสาวคนสุดท้อง คือ น้องเฟรชชี่ คุณสายรุ้งไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลวิหารแดง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อได้รับข้อมูลและเทคนิคการให้นมบุตรจาก “มิสนมแม่” ซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาล จึงตัดสินใจว่าจะให้นมแม่กับลูกคนสุดท้องอย่างจริงจัง

แม้ว่าช่วงแรกจะถือเป็นความท้าทายของคุณแม่อยู่บ้าง เพราะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองและสมาชิกในครอบครัวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้ออุปกรณ์ปั๊มนม และอุปกรณ์เสริม เช่น ถุงเก็บนมสำหรับเก็บนมแม่เพื่อแช่ตู้เย็นไว้ให้คุณปู่คุณย่าช่วยนำมาเลี้ยงหลานเวลาตนเองต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่คุณสายรุ้งยืนยันว่า การลงทุนเหล่านั้นคุ้มค่า เพราะสองปีผ่านไป คุณแม่เห็นพัฒนาการของน้องเฟรชชี่เมื่อเทียบกับลูกสองคนแรกที่กินนมผงอย่างชัดเจน คุณแม่เล่าว่า น้องมีพัฒนาการเร็วโดยเฉพาะการรับรู้ และไม่ป่วยบ่อยเมื่อเทียบกับพี่อีกสองคน ที่สำคัญ น้องไม่ยอมกินนมวัวเลย

เมื่อไม่ต้องเสียเงินซื้อนมกระป๋อง เธอจึงสามารถเก็บสะสมทุนการศึกษาไว้ให้น้องเพื่อนำมาใช้ตอนโตได้มากขึ้นด้วย “คนเป็นแม่ ไม่มีอะไรดีไปกว่าได้เห็นลูกเป็นคนดี ได้เรียนหนังสือสูง ๆ เรามีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ นมแม่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ” คุณสายรุ้ง กล่าว

แพทย์หญิง สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เจ้าของเพจเกี่ยวกับนมแม่ในเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามกว่าสองแสนราย กล่าวว่า ผู้เป็นพ่อแม่จำเป็นต้องรู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของนมผง เพราะมีการศึกษาในต่างประเทศ ยืนยันว่า สารอาหารต่าง ๆ ที่โฆษณาว่าเติมในนมผงนั้น เป็นสารอาหารดัดแปลงที่ไม่สามารถเทียบได้เลยกับคุณค่าสารอาหารในนมแม่ที่มีมากกว่า 200 ชนิด

คุณหมอยังเรียกร้องให้คนไทยร่วมกันพลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก เพราะการส่งเสริมการตลาดเหล่านี้กระทำอย่างดุเดือดและไม่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตนเชื่อว่า กฎหมายจะช่วยควบคุมการโฆษณา เพราะให้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว และมีอิทธิพลสูงกับผู้บริโภคหากไม่ศึกษาข้อมูลรอบด้าน

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวว่า “นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กอย่างไม่มีอะไรเทียบเท่า นมแม่เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์มหาศาล นมแม่คือภูมิคุ้มกันสำหรับทารก และมีคุณค่าเหนือกว่านมผงใด ๆ ที่เคยผลิตมา ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถึงที่สุด เพราะจะช่วยให้เด็ก ๆ ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างฉลาดและแข็งแรง”

นายโธมัส กล่าวเสริมว่า “เรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก แต่เราสามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าทุกคนมาช่วยกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่เป็นเรื่องของแม่เพียงคนเดียว เราทุกคนตั้งแต่สามี สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ไปจนถึงหมอ พยาบาล และรัฐบาล ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ นอกจากนี้ เรายังต้องมีนโยบายที่จะเอื้อให้แม่ที่ต้องไปทำงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีมุมนมแม่ในที่ทำงาน การมีเวลาพักให้แม่สามารถปั๊มนม ตลอดจนการมีตู้เย็นเก็บน้ำนมในที่ทำงาน”

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น