สธ. พร้อมชดเชยคดี “น้องหมิว” ตามคำพิพากษา รมว.สธ. ชี้ต้องป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุอีก หวั่นแพทย์หมดกำลังใจ กระทบการรักษาประชาชน ย้ำ ศูนย์สันติวิธีต้องไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจให้ได้ก่อนเป็นคดีมากขึ้น ตั้งคณะทำงานศึกษา กม. คุ้มครองผู้บริโภค หลังมีกระแสวิพากษ์คดีทางการแพทย์ ไม่ควรเป็นคดีผู้บริโภค
จากกรณีศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ นายมนูญ และ นางเยาวภา ทินนึ่ง บิดา และมารดาของ ด.ญ.กนกพร ทินนึ่ง หรือ น้องหมิว ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลังเกิดความพิการจากการเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.เลย เมื่อปี 2547 ชนะคดี โดยให้ สธ. ชดใช้ 2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.5% นับจากวันฟ้อง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในวงการแพทย์ โดยต่างเห็นว่าแพทย์เจ้าของไข้ทำถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐานแล้ว และเห็นว่า คดีฟ้องร้องทางการแพทย์ไม่ควรจัดเป็นคดีผู้บริโภคที่จะนำ พ.ร.บ. วิธิพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาใช้ในการดำเนินการ
วันนี้ (27 เม.ย.) แพทยสภา จัดประชุม เรื่อง “ทิศทางการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในอนาคต” โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวเปิดประชุมว่า คำตัดสินของศาลเป็นสิ่งที่ สธ. ต้องดำเนินการ เพราะประเทศดำรงอยู่ได้ด้วยการรักษากฎหมาย แต่จะต้องหาแนวทางป้องกัน แก้ไขไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก เพราะทำให้แพทย์เกิดความหวั่นไหว เสียกำลังใจ ไม่กล้าที่จะกระทำการรักษาบางอย่าง ทำให้มาตรฐานการรักษาลดลงในอนาคต สุดท้ายผลกระทบจะตกสู่ประชาชน เพราะฉะนั้นต้องทำให้แพทย์มีความมั่นใจในการดูแลรักษาประชาชนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี
“ปัจจุบัน สธ. มีศูนย์สันติวิธีทำหน้าที่ในการเสนอกระบวนการดูแลแพทย์และคนไข้ก่อนเรื่องจะกลายเป็นคดี แต่การทำงานจะต้องไม่เป็นแบบทฤษฎีเท่านั้น จะต้องเน้นงานเชิงปฏิบัติมากขึ้น ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากดูสัดส่วนประชาชนที่รพ.รัฐ ให้การดูแลรักษาพยาบาลราว 40 - 50 ล้านคน ถือว่าคดีฟ้องร้องทางการแพทย์เกิดขึ้นน้อยมาก และอยากให้เชื่อว่าหมอ ก็คือ หมอที่เข้ามาทำอาชีพนี้เพื่อหวังดูแลประชาชน มีเพียงแค่ไม่ถึง 1% เท่านั้น ที่ทำธุรกิจ จึงไม่ควรทำให้เกิดความขัดแย้งของแพทย์กับคนไข้ ต้องให้แพทย์มีกำลังใจในการทำงาน ก็จะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน ไม่ได้ต้องการปกป้องแพทย์ แต่ปกป้องประชาชน เพราะหากแพทย์ไม่มีกำลังใจ ก็จะส่งผลต่อการดูแลประชาชน” รมว.สธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์อย่างมาก ว่า ไม่ควรนำกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาใช้ในคดีทางการแพทย์ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นประธาน และจะเชิญผู้แทนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายกฎหมายของ สธ. ศาลยุติธรรม แพทยสภา และผู้บริโภคมาร่วมกันหารือว่าตามหลักเหตุผลและความเป็นจริง คดีทางการแพทย์สามารถเป็นคดีผ็บริโภคได้หรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องแพทย์อย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างแพทย์และคนไข้ โดยเฉพาะจะทำอย่างไรเมื่อสงสารคนไข้ ขณะเดียวกัน แพทย์ก็ไม่ผิด ต้องรับฟังข้อมูลของทุกฝ่ายจึงจะสามารถตัดสินใจในเชิงนโยบายได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่