ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดเสวนา “นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค” เตือนผู้ซื้อควรตรวจสอบ และเก็บเอกสารสัญญาซื้อขายต่างๆ ให้ดีก่อนทุกครั้ง
วันนี้ (21 มี.ค.) ที่ โรงแรมบุรี ศรีภู บูติกโฮเต็ลหาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี จัดโครงการสัมมนาเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในจังหวัด และท้องถิ่น ครั้งที่ 3 ประจำปี 2559 เรื่อง “ปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร” โดยมี นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นผู้บรรยายพิเศษหัวข้อเรื่อง “นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค”
สำหรับการบรรยายในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ). ได้เชิญ ผู้ประกอบการภายในจังหวัด และสื่อมวลชนเข้าร่วมสัมมนา โดยเป็นการหารือทำความเข้าใจเกี่ยวเรื่องอสังหาริมทรัพย์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค และแจ้งกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องที่อยู่อาศัยมีราคาแพง ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยผู้ซื้อจะต้องมีการหาข้อมูล ตรวจสอบรายละเอียด และทำความเข้าใจต่อข้อกฎหมายทางด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เข้าใจ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจนำไปสู่การศูนย์เสียเงิน และเวลาได้
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า เรื่องร้องเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับบ้านจัดสรร ตั้งแต่ปี 2556-2558 มีจำนวนถึง 1,142 เรื่อง ประเด็นเรื่องที่ร้องเรียนแยกเป็นแต่ละประเภท ได้แก่ มีความชำรุดหลังปลูกสร้าง เช่น ทรุด ร้าว และชำรุด บกพร่องอื่นๆ ไม่จัดทำสาธารณูปโภคที่ระบุไว้ในสัญญาและตามที่โฆษณา ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่ก่อสร้าง โอนกรรมสิทธิ์ล่าช้า ก่อสร้างไม่ตรงตามแปลนที่ได้รับอนุญาต ขอเงินมัดจำหรือจองคืนกรณีกู้ไม่ผ่าน การบริหารนิติบุคคล ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยสูง และอื่นๆ
สำหรับผู้บริโภคทางด้านอสังหาริมทรัพย์ สาเหตุส่วนใหญ่มีมาจากกรณีดังต่อไปนี้ ผู้บริโภคขาดความระมัดระวังในการซื้อบ้าน หรือห้องชุด หลงคำเชื่อโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจ โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ และไม่หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา ก่อนเข้าทำสัญญาซึ่งมีผลผูกพันกันตามกฎหมาย ผู้บริโภคมักไม่ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าสัญญาดังกล่าวให้สิทธ์แก่ผู้บริโภคครบถ้วนหรือไม่ ผู้ประกอบธุรกิจได้โฆษณาโดยการนำวิชาการในทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้ในการส่งเสริมการขาย ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจบางรายยังขาดจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ นำสัญญาที่มีข้อความไม่เป็นธรรมมาใช้ต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเพื่อในทางธุรกิจของตนเอง ผู้ประกอบธุรกิจบางรายขาดจิตสำนึกต่อสังคม โดยหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุในการก่อสร้างที่มีคุณภาพไม่ตรงตามสัญญาเพื่อหวังผลกำไรเกินควร ผู้ประกอบการบางรายเร่งรีบในการก่อสร้าง ไม่คำนึงถึงสภาพพื้นดินที่ใช้ในการก่อสร้างซึ่งจะกระทบต่อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคภายหลัง ผู้ประกอบธุรกิจบางรายไม่ให้บริการหลังการขายตามสมควร
นอกจากนี้ นายอำพล วงศ์ศิริ ยังฝากเตือนถึงประชาชนผู้บริโภคว่า ควรตรวจสอบ และเก็บเอกสารสัญญาซื้อขายต่างๆ ให้ดีก่อนทุกครั้ง เช่น ใบโบรชัวร์ โฆษณาต่างๆ แล้วตรวจสอบเอกสารดูว่าสัญญา หรือบ้าน และคอนโดที่ได้รับมอบตรงตามกับโฆษณาที่ทางบริษัทกล่าวไว้หรือไม่ ซึ่งหากมีปัญหาภายหลังก็จะได้นำเอกสารเหล่านั้นมาเป็นหลักฐานไว้ใช้สำหรับยืนยันสิทธิของตนเองต่อไป