xs
xsm
sm
md
lg

ไทยขาดแคลน “นักบิน” ผลิตปีละ 300 คน ต้องการมือเก๋ามากกว่าจบใหม่ ด้านธุรกิจการบินบูม เด็กไทยแห่เรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันการบินฯ รับไทยยังขาดแคลน “นักบิน” ต้องการนักบินใหม่ปีละ 400 - 500 คน ผลิตได้เพียงปีละ 200 - 300 คน พบปัญหาขาดช่วงแรงงาน เหตุต้องการคนมีประสบการณ์มากกว่านักบินจบใหม่ สวนทางกระแสเด็กไทยแห่เรียน “ธุรกิจการบิน” เพิ่มขึ้น พบปี 58 มีมากกว่า 15,000 คน ห่วงรับนักศึกษาปริมาณกระทบคุณภาพ สมศ.ระบุผลประเมินสถาบันอุดมศึกษาสอนการบินยังอยู่ในเกณฑ์ดี - ดีมาก
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในการแถลงข่าวสถิติผลประเมินคุณภาพสถานศึกษาด้านการบิน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยเปิดสอนในรูปแบบสถาบันการบินและคณะการบิน จำนวน 5 แห่ง ซึ่งมี 3 แห่งที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามและอยู่ในระดับคุณภาพดี ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน ม.อีสเทิร์นเอเชีย และ ม.รังสิต ส่วนอีก 2 แห่ง คือ ม.นครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี จะได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ. 2559 - 2563) สำหรับอีก 21 แห่งนั้น เป็นการเปิดสอนหลักสูตรหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน ล้วนมีผลการประเมินของ สมศ. อยู่ในระดับดี - ดีมาก

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2556 มีนักศึกษาประมาณกว่า 5,000 คน ปี 2557 มากกว่า 9,000 คน และปี 2558 มีมากกว่า 15,000 คน ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน ทำให้มีความต้องการบุคลากรในด้านนี้มาก ดังนั้น หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนก็ต้องมีคุณภาพ และได้รับการประเมินในระดับที่ดี - ดีมาก ซึ่้งภาพรวมการจัดการเรียนการสอน เกี่ยวกับหลักสูตรด้านการบินของสถาบันอุดมศึกษาในไทยยังเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่หากมีการขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่น่าห่วงคือคุณภาพ ดังนั้น นอกจากมีการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว สภาวิชาชีพต้องกำกับ ดูแลอย่างเข้มข้น เพราะการผลิตบุคลากรด้านนี้เกี่ยวข้องกับชีวิต ความปลอดภัยของผู้คน” ผอ.สมศ.กล่าว
น.อ.จิรพล เกื้อด้วง
น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวว่า สบพ. เป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการบิน สังกัดกระทรวงคมนาคม หลักสูตรการเรียนการสอนมีความครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร ดังนี้ 1. หลักสูตรภาคอากาศ อาทิ หลักสูตรนักบินพาณิชย์ หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล และ 2. หลักสูตรภาคพื้นดิน อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น โดยได้ผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินมาแล้วรวมกว่า 20,000 คน ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สมศ. และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยได้รับรองการเป็นสมาชิกประเภทสามัญ Full Member,ICAO TRAINAIR PLUS Program ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น คือ ไทย และ อินโดนีเซีย มีการจัดการเรียนการสอนภาคพื้นตั้งแต่ระดับฝึกอบรม อนุปริญญา ปริญญาตรี จนถึงปริญญาโท

ขณะนี้ไทยมีนักบินอยู่ จำนวน 2,500 - 3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400 - 500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200 - 300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000 - 9,000 คน แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300 - 400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี สำหรับสถาบันการบินพลเรือนสามารถผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมการบินกว่า 1,800 คน เฉพาะนักบิน ผลิตได้ 100 - 120 คน อย่างไรก็ตาม สายการบินที่เปิดใหม่ มีความต้องการนักบินและช่างอากาศยานที่มีความเชี่ยวชาญ มากกว่านักบินหรือช่างที่จบใหม่ จึงทำให้เกิดการขาดช่วงแรงงาน” ผู้ว่าการ สบพ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น