xs
xsm
sm
md
lg

“จารึกประวัติศาสตร์ 2559 ปีทองแห่งการทำลายชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
รัฐบาล ทุนอุตสาหกรรม และชุมชน คือ สามเส้าแห่งความสมดุลที่แทบไม่เคยได้ดุล ในอดีตที่ผ่านมา รัฐก็เอียงข้างทุนอยู่มากแล้ว แต่ไม่ประเจิดประเจ้อออกนอกหน้านัก นาน ๆ สักครั้งจึงจะออกมาใช้อำนาจรัฐขับเบียดชุมชนให้สยบยอมต่อโครงการขนาดใหญ่ในนามของการพัฒนาสักครั้ง ภายใต้วลี “ขอให้ชาวบ้านเสียสละเพื่อประเทศชาติ” ซึ่งแท้จริงบ่อยครั้งที่เป็นการเสียสละเพื่อให้นายทุนร่ำรวยบนหยาดน้ำตาของผู้คนพื้นถิ่นและมลพิษที่สะสมในแผ่นดิน
ในยุค คสช. ได้มีการใช้อำนาจ คสช. อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมสกปรกให้สามารถเร่งกระบวนการก่อสร้างและดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น โดยละเลยความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สุขภาพและสิทธิชุมชน
เริ่มด้วยการที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 7/2558 ลงวันที่ 10 กันยายน 2558 โดยมีการแก้ไขให้ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่จากเดิมโรงไฟฟ้าทุกประเภทที่มีกำลังการผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ต้องจัดทำ EIA ส่งผลให้เกิดความคึกคักในการเปิดพื้นที่ทำโรงไฟฟ้าขยะ จากปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าขยะที่เปิดดำเนินการแล้วเพียง 2 แห่ง จนมีแนวโน้มที่จะเกิดโรงไฟฟ้าขยะไม่ต่ำกว่า 53 แห่งในแทบทุกจังหวัด ทั้งนี้ ต้องอย่าลืมว่า หากไม่มีการแยกขยะในครัวเรือนต้นทางอย่างดี โรงไฟฟ้าขยะก็คือเตาเผาที่แพร่กระจายสารพิษสู่ชุมชนอย่างรุนแรงทางปล่องควัน น้ำเสีย และส่งกลิ่นเหม็นตลอด 24 ชั่วโมง

ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2559 ได้มีการใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมสกปรกหลายประเภท ซึ่งเป็นประกาศที่ไปยกเลิกการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมายผังเมือง กระทบสิทธิชุมชนจนเกิดการแสดงอารยะขัดขืนด้วยริบบิ้นขาวพันมืออย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่และที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 7 มีนาคม 2559 คสช. ได้ใช้ ม.44 อีกครั้งออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 9/2559 ที่ยกเว้นให้โครงการของรัฐด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย สามารถดำเนินการจัดหาเอกชนผู้รับเหมาได้ก่อนที่โครงการจะผ่านความเห็นชอบในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณว่า “รัฐบาลเลือกยืนข้างทุน ขอให้มั่นใจ อย่างไร EIA ก็ผ่าน จึงเตรียมให้พร้อมได้เลย” และเป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไม คสช. ต้องรีบเร่งขนาดนี้ จนมีหลายคนเกรงว่าอาจมีอะไรในกอไผ่ เพราะคนอนุมัติชี้ว่าใครจะได้รับเหมาในแต่ละโครงการมหึมานั้น ย่อมมีโอกาสที่จะเรียกรับผลประโยชน์ได้ หากไม่มีธรรมาภิบาลในองค์กรหรือในใจตน
ทั้งสามกรณีชัดเจนว่า เป็นการใช้คำสั่ง คสช. เพื่อกรุยทางให้กับทุนอุตสาหกรรมสกปรกในการดำเนินโครงการโดยไม่ต้องสนใจสิทธิชุมชน ไม่ต้องสนใจผังเมืองหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเช่นเดิม สนใจแต่การเร่งรัดการลัดขั้นตอนการลงทุน เร่งรัดการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมให้เกิดให้เร็วที่สุด ให้สร้างได้ทุกพื้นที่ นี่คือหายนะระยะยาวทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชุมชน
คำถามที่สำคัญในวันนี้ คือ หากชาวบ้านในชุมชนคัดค้านอย่างกว้างขวาง คือ ชุมชนไม่เอา แต่โดยอำนาจทางกฎหมายเปิดทางอนุญาตให้สร้างได้ เช่นนี้จะไม่เกิดการปะทะกันของชาวบ้านกับรัฐและทุนในทุกหย่อมหญ้าหรือ ที่ผ่านมายังมีผังเมืองกำกับ ยังมีการศึกษา EIA ที่เป็นขั้นเป็นตอนกำกับ ยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่รู้สึกปิดกั้นด้วยชุดลายพรางเหมือนในยุคนี้กำกับ และยังมีกลไกองค์กรอิสระที่ช่วยในกระบวนการต่อรองที่คอยกำกับอยู่ แต่วันนี้กลไกเหล่านั้นไม่มีหรือมีก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้แล้ว สิ่งที่ชาวบ้านเหลืออยู่ ก็คือ การสร้างค่ายบางระจันที่พร้อมปกป้องชุมชนจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนที่ถาโถมเข้ามา นั่นคือ สัญญาณแห่งอนาธิปไตยในสังคมที่ภาวะประชาธิปไตยพิกลพิการ
การที่รัฐไม่อยู่ตรงกลางระหว่างชุมชนและทุน กลับเอียงข้างถึงขนาดแทบจะเป็นเหมือนนักเลงหัวไม้ที่คอยกรุยทางยืนยามหรือเป็นนายหน้าของทุนนั้น ย่อมทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงสงครามปกป้องชุมชนในอนาคตอันใกล้ ความรุนแรงจะตามมา โรคลูกตะกั่วเป็นพิษจะมากขึ้น ความแตกแยกในสังคมจะเพิ่มขึ้น การคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัฐราชการจะลดลง นี่ยังไม่นับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วัฒนธรรมชุมชนที่อาจยากที่จะฟื้นคืนกลับมา ในมุมของชุมชนทั้งหมดนี้คือการคิดสั้น ๆ หวังเพื่อการกอบโกยรายได้แบบขายแผ่นดินขายทรัพยากรกินกันเฉพาะกิจ แต่ในมุมของนายทุน นี่คือโอกาสของการกอบโกยทำกำไร เพราะหากไม่มีอำนาจปืนหนุนหลัง ก็ทำแบบนี้ไม่ได้
จึงควรที่จะต้องจารึกประวัติศาสตร์ว่า “ปี 2559 คือปีทองแห่งการทำลายชุมชน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
กำลังโหลดความคิดเห็น