xs
xsm
sm
md
lg

สกัด องค์กรพุทธ แถลงโต้คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนพ.- ศูนย์พิทักษ์แถลงแย้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีตั้งพระสังฆราช ระบุ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีอำนาจ เร่งรวมรายชื่อ 2 หมื่นชื่อยื่น สนช. ถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่ตำรวจสกัดแถลงข่าว อ้างผิด พ.ร.บ. การชุมนุม

วันนี้ (7 มี.ค.) เมื่อเวลา 9.30 น. ที่อาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วัดศรีสุดาราม กรุงเทพฯ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ และ ทหาร ประมาณ 20 นาย เดินทางมาดูแลความเรียบร้อย ภายหลังที่สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) แจ้งต่อสื่อมวลชน ว่า จะแถลงข่าวเวลา 10.00 น. ถึงท่าทีการเคลื่อนไหวภายหลังที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยมติ มส. ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เพื่อเสนอสถาปนาสังฆราช ผิด ขั้นตอน ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ว่า ต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะ

ต่อมาเวลา 10.20 น. พ.ต.อ.เมธี รักพันธุ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 ได้เชิญ ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา นายกสมาคมวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ผศ.ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ รองเลขาธิการ สนพ. และพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และผู้ที่จะร่วมแถลงข่าวเพื่อกำหนดแนวทางการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยทางตำรวจได้แจ้งต่อพระเมธีธรรมาจารย์ อาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และไม่ได้ขออนุญาตตำรวจก่อนแถลงข่าว อีกทั้งกังวลว่าจะมีผู้อื่นปะปนแฝงตัวเข้ามาในการแถลงข่าว อาจจะก่อความวุ่นวาย โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 30 นาที

กระทั่งเวลา 10.40 น. พระเมธีธรรมาจารย์ มานั่งโต๊ะแถลงข่าวกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า ขอยืนยันว่า ศูนย์พิทักษ์ฯและองค์กรพุทธ ทำเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ไม่มีวาระ ไม่มีการเมือง และไม่มีอามิสสินจ้างแต่อย่างใด ไม่เคยคิดจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อบ้านเมือง สำหรับการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาได้ยึดหลักการ 3 ข้อ คือ เคารพกฎหมายบ้านเมือง พระธรรมวินัย และจารีตประเพณี

ด้าน พระครูปลัดกวีวัฒน์ กตปุญฺโญ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ กล่าวว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับมติ มส. กรณีการเสนอสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ว่าผิดขั้นตอนนั้น ยืนยันว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยมติ มส. เพราะ มส. ไม่ใช่หน่วยงานราชการ หากเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างหนังสือตอบกลับของผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2559 ซึ่งแจ้งถึง ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จังหวัดพิจิตร กรณีร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าอาวาส ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตอบกลับไป ว่า ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องของสงฆ์ ซึ่งศูนย์พิทักษ์ฯ มองว่า การวินิจฉัยกฎหมายมีหน่วยงานที่มีหน้าที่อยู่แล้วก็คือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

พระครูปลัดกวีวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยกฎหมาย และได้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องขั้นตอนตามกฎหมายการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 4 หน้า และช่วงท้ายของจดหมายเปิดผนึก ได้ระบุว่า ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ศูนย์พิทักษ์ฯและสนพ. เห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีเจตนาวินิจฉัย ตีความกฎหมายผิดขัดต่อจารีตประเพณี ราชประเพณี และขัดต่อจริยธรรมต่อองค์กรอิสระอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความแตกแยก ในหมู่คณะสงฆ์และสังคมไทยอย่างรุนแรง จึงมีมติร่วมกันดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. รวบรวมรายชื่อพระสงฆ์ และคฤหัสถ์ 20,000 ชื่อ เพื่อถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2. ขอนิมนต์และเรียนพุทธบริษัท ร่วมลงชื่อถอดถอนได้ ซึ่งผู้ประสานงานจะแจ้งให้ทราบถึงสถานที่ลงชื่อต่อไป

บรรยากาศก่อนที่จะมีการแถลงข่าว มีผู้สื่อข่าวจำนวนมากรอการแถลงข่าว และทราบว่าพระเมธีธรรมาจารย์และคณะอยู่อีกห้องหนึ่งพร้อมกับตำรวจ ทำให้ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ลุกออกยืนหน้าห้อง หลังจากนั้น พระเมธีธรรมาจารย์และคณะ จึงออกมาแถลงข่าวเพียงสั้น ๆ เท่านั้น แล้วลุกขึ้นโดยไม่ให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถามแต่อย่างใด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น