นายกสมาคมศัลยกรรมชี้ “สุรชัย” ยกเครื่องหน้าใหม่ ไม่ใช่การทำ “Face Off” เป็นแค่ Face Lift ช่วยใบหน้าดูดีขึ้น ยังมีเค้าโครงหน้าเดิม ชี้การทำ Face Off คือ การเปลี่ยนใบหน้าให้คนจำไม่ได้ เชื่อหมอไทยไม่มีใครทำ เหตุใช้สำหรับคนหนีคดี ก่อจารกรรม แพทยสภาเล็งตรวจสอบหมอรู้เห็นโฆษณาอ้างชื่อด้วยหรือไม่ สบส.ชี้ศัลยกรรมลดอายุ 60 ปี เหลือ 30 ปี เป็นการโอ้อวด
นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณี นายสุรชัย สมบัติเจริญ ศิลปินลูกทุ่ง เข้าผ่าตัดศัลยกรรมเฟซออฟ (Face off) ว่า ในวงการแพทย์นั้นการทำ Face off หมายถึงการเปลี่ยนหน้าตนเอง ตั้งแต่กระดูก เนื้อเยื่อ และโครงสร้างทั้งหมดเพื่อไม่ให้จดจำใบหน้าเดิมได้ ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาร่วมกัน เช่น หากผ่าตาต้องมีจักษุแพทย์ หากผ่าจมูกต้องมีแพทย์หูคอจมูก หากผ่าใบหน้าต้องมีแพทย์ศัลยกรรมใบหน้า หากผ่าขากรรไกรต้องมีทันตแพทย์ร่วมกัน เป็นต้น การทำ face off จะทำใน 2 กรณี คือ 1. คนที่หนีคดี หรือในเชิงอาชญากรรม และ 2. การจารกรรม แต่ในทางเสริมความงามจะไม่มีการทำ face off โดยเฉพาะในประเทศไทยจะไม่มีแพทย์ศัลยกรรมความงามคนใดกล้าที่จะรับทำ face off เพราะอาจเข้าข่ายเรื่องของการทำผิดจริยธรรม จรรยา หรือแม้แต่การทำศัลยกรรมที่เกาหลีใต้ก็ไม่มี เป็นการศัลยกรรมให้ใบหน้าสวยขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีเค้าโครงใบหน้าเดิม
นพ.ชลธิศกล่าวว่า การเสริมความงามจะมีการทำหน้าให้ดูสดชื่นขึ้นใน 2 รูปแบบ คือ เฟซลิฟต์ (Face lift) เป็นการดึงหน้า ทำตา ปลูกผมเพื่อให้ดูดีขึ้น เป็นการทำในผู้ที่มีปัญหาใบหน้าเหี่ยวย่น หย่อนยานหลายๆ จุด และการทำเฟซล็อก (Face lock) คือเป็นการล็อกใบหน้าเฉพาะจุดทืี่มีปัญหา เช่น เฉพาะตา หรือมุมปาก หรือคิ้ว เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีอายุไม่มาก แต่กรรมวิธีการทำทั้ง 2 รูปแบบเหมือนกันและไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด และการทำดังกล่าวจะอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง และต้องทำใหม่ กรณีคุณสุรชัยจึงน่าจะเป็น face lift ไม่ใช่ face off เพราะเค้าโครงหน้าเดิมยังอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงใบหน้าไป เพียงแต่ทำให้ใบหน้าดูดีขึ้นเท่านั้น
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า กรณีนี้ผู้ที่ออกมาพูดข้อมูลเรื่อง face off ไม่ใช่แพทย์ แพทยสภาจึงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ แต่หากบุคคลดังกล่าวระบุชื่อแพทย์ และเป็นการพูดเยินยอแพทย์คนนั้นอย่างเกินจริง และมีหลักฐานข้อมูลเชื่อมโยงได้ว่าแพทย์คนดังกล่าวรู้เห็นให้บุคคลนั้นพูดโฆษณาตนเอง แพทยสภาจะดำเนินการเรียกแพทย์ถูกกล่าวอ้างถึงมาให้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเข้าข่ายการกระทำความผิดเรื่องการโฆษณา แต่หากแพทย์คนนั้นไม่รู้เห็นด้วย ก็ถือว่าแพทย์ไม่มีความผิด เนื่องจากอาจเป็นการกลั่นแกล้งด้วยการกล่าวชื่อแพทย์ขึ้นมาโดยที่แพทย์คนนั้นไม่ได้รู้เรื่องราวด้วย
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เรื่องการโฆษณาเกินจริงทางการแพทย์ สธ. จะพิจารณาในกรณีที่เป็นสถานพยาบาลกระทำความผิด และแพทยสภาจะพิจารณาในกรณีที่แพทย์กระทำความผิด แต่กรณีนี้ผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลไม่ใช่แพทย์และไม่ได้ดำเนินการโดยสถานพยาบาล จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่จะพิจารณาว่าการกระทำของ ดร.เซปิง เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานโฆษณาเกินจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีการระบุการทำผ่าตัดทำใ่ห้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ไปตลอดชีวิต เข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงอย่างแน่นอน ถือเป็นการโอ้อวด เพราะใบหน้าของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามวัย รวมถึงการระบุว่าเมื่อทำการผ่าตัดแล้ว จะทำให้ดูเด็กลงจากอายุ 60 ปี เหลือ 30 กว่าปี ก็เป็นการโอ้อวดเช่นกัน เพราะไม่ได้มีหลักฐานทางการแพทย์รับรองในเรื่องดังกล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่