xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชลธิศ” เข้าชี้ตัว “ดร.เซปิง” สบส.ฟัน รพ.ทำหน้า “สุรชัย” ยินยอมให้โฆษณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“หมอชลธิศ” เข้าชี้ตัว ดร.เซปิง ไม่หวั่นคนมองปมขัดแย้ง ด้าน สบส. ชี้ รพ.รับทำศัลยกรรม “สุรชัย” ไม่ออกมาคัดค้านการโฆษณาถือว่ายินยอมให้โฆษณา เตรียมชี้โทษขาดวันที่ 4 มี.ค. แพทยสภาเรียก “หมอกมล” สอบ เกี่ยวข้องโฆษณาหรือไม่

จากกรณี ดร.เซปิง ไชยศาส์น ที่ปรึกษาด้านศัลยกรรมความงาม ออกมาแถลงข่าวจะเดินหน้าทำโครงการเฟซออฟต่อ โดยยืนยันว่าเฟซออฟไม่ได้หมายถึงเทคนิคการทำศัลยกรรมที่เปลี่ยนใบหน้าให้ไม่เหมือนเค้าโครงเดิม แต่หมายถึงการมีใบหน้าใหม่ที่คนทำพึงพอใจ มีความสุข อย่างของ นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังเข้าร่วมก็เพราะอยากลดวัย มีผิวที่เต่งตึง นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะร้องเรียน นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ต่อแพทยสภาด้วยนั้น

นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 23 ก.พ. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สมเด็จเจ้าพระยา ได้เชิญตนไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ชี้ตัวเกี่ยวกับ ดร.เซปิง เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนชื่อหลายรอบ ส่วนรายละเอียดคงต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน โดยการแจ้งความก่อนหน้านี้เป็นเรื่องของการโฆษณาโอ้อวด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผิด ไม่สามารถโฆษณาได้ ส่วนที่ ดร.เซปิง อ้างว่า เป็นหลานของตนเองยืนยันว่าไม่ใช่ ส่วนที่สังคมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะปมขัดแย้งกันเองนั้น แต่ละคนสามารถคิดได้ ไม่ได้กังวลอะไร อย่างไรก็ตาม ตนไม่ติดใจกรณี ดร.เซปิง แถลงข่าวโดยนำภาพคนไข้มาเปรียบเทียบ และอ้างว่า เป็นฝีมือของตนเอง ตนไม่ติดใจอะไร จะถือว่าละเมิดสิทธิหรือไม่ ตนขอปรึกษาทนายก่อน เพราะยังไม่เห็นข่าว ส่วนที่ ดร.เซปิง จะไปร้องแพทยสภาเกี่ยวกับตนนั้น ตนยังไม่ทราบ แต่เรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการของส่วนราชการแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะเรื่องการโฆษณา หรือการพูดถึงเฟซออฟ ขอให้ไปถามสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดีกว่า และหากใครจะพาดพิงอะไรตน ก็ไม่กังวล

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีตรวจสอบโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมลที่ทำศัลยกรรม นายสุรชัย สมบัติเจริญ มีความเกี่ยวข้องกับ ดร.เซปิง หรือไม่นั้น ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ยังไม่พบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวออกมาคัดค้านหรือเห็นด้วยกับการโฆษณา จึงถือว่าเป็นการยินยอมให้โฆษณา ดังนั้น ผิดมาตรา 38 พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีความผิดปรับเงิน 20,000 บาท และปรับเพิ่มวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการโฆษณาของ สบส. จะชี้ขาดโทษอีกครั้งในวันที่ 4 มี.ค. นี้ ส่วนกรณี ดร.เซปิง มาให้ข่าวว่า เฟซออฟเป็นเพียงโครงการเท่านั้น ไม่ใช่เทคนิคการทำ เป็นหน้าที่ของ สคบ. ดูแลเรื่องนี้ แต่การใช้ชื่อโครงการก็เหมือนเป็นการสื่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้อนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภาพิจารณา ว่า นพ.กมล พันธ์ศรีทุม ผู้ทำศัลยกรรมให้ นายสุรชัย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณา หรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับทาง ดร.เซปิง หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 มี.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเกี่ยวกับเรื่องของการโฆษณาเกินจริง ซึ่งขณะนี้พบมาก โดยจะมีการหารือว่าจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร โดยเฉพาะการโฆษณาทางการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมีการร่างกฎเกณฑ์มาตรฐานการทำศัลยกรรมว่า การทำศัลยกรรมแต่ละเรื่องต้องมีมาตรฐานอะไร สามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

สำหรับการโฆษณาสถานพยาบาล น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สามารถกระทำได้ 6 เงื่อนไข คือ 1. การโฆษณาชื่อและที่ตั้ง ส่วนคุณวุฒิผู้ประกอบวิชาชีพ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ 2. การโฆษณาบริการทางการแพทย์ ให้แจ้งเฉพาะบริการที่มีในสถานพยาบาล วันเวลาที่ให้บริการ 3. การโฆษณาแจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาลหรือค่าบริการที่มีในสถานพยาบาล 4. การโฆษณาอัตราค่ารักษาพยาบาลหรือค่าบริการที่มีเงื่อนไข จะต้องแจ้งรายละเอียดของเงื่อนไขการโฆษณาให้ผู้รับบริการทราบล่วงหน้าก่อนให้บริการ กำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดให้ชัดเจน 5. การเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการทางการแพทย์และเผยแพร่งานวิจัย ต้องระบุคำเตือนไว้ว่ามีความเสี่ยงของการไม่ได้ผลหรืออาจเกิดอันตรายหรือเกิดผลข้างเคียง โดยขนาดอักษรต้องเท่ากับตัวอักษรที่โฆษณา และความเร็วของเสียงต้องไม่เร็วไปกว่าเสียงปกติ และ 6. การโฆษณาเพื่อแจ้งข่าวสารแก่ประชาชน เช่น แจ้งทำลายเวชระเบียน แจ้งย้ายสถานที่ แจ้งกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น