xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ดร.เซปิง อวดหน้าใหม่ “สุรชัย” ชี้ใบหน้าเดิม แต่เต่งตึงขึ้น เข้าข่ายหลอกลวงทำเฟซออฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตา ดร.เซปิง อวดโฉมหน้าใหม่ “สุรชัย” อธิบดี สบส.ชี้หากใบหน้าเหมือนเดิม แต่กระชับ เต่งตึงขึ้น หย่อนคล้อย ริ้วรอยลดลง เป็นศัลยกรรมทั่วไป ไม่ใช่เฟซออฟตามโฆษณา เข้าข่ายหลอกลวง

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี ดร.เซปิง ไชยสาส์น เตรียมวางแผนอวดโฉมหน้าของนายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง หลังผ่าตัดเสริมความงามโครงการเฟซออฟ ในวันที่ 22 ก.พ. 2559 ว่าการทำเฟซออฟ (Face Off) เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าไม่ให้เหมือนใบหน้าเดิม และใช้การผ่าตัดหลายขั้นตอน หลายจุด เช่น การตัดคางเหลี่ยม โหนกแก้ม ปลายคาง เป็นต้น มักใช้ในกรณีบุคคลที่มีปัญหารุนแรงติดตัว หนีคดี เป็นหน้าใหม่ในร่างกายเดิม ไม่ให้คนรู้จักหรือสังคมจดจำได้ ในประเทศไทยยังไม่มีแพทย์ศัลยกรรมความงามคนใดกล้ารับทำเฟซออฟเพราะอาจเข้าข่ายกระทำผิดด้านจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ แม้กระทั่งการทำผ่าตัดใบหน้าที่ประเทศเกาหลีใต้ก็ตาม เป็นเพียงการผ่าตัดทำให้ใบหน้าสวยขึ้นแต่ยังคงเค้าโครงใบหน้าเดิมไว้ ยังไม่มีการทำการผ่าตัดด้วยวิธีเฟซออฟเช่นกัน ทั้งนี้ หากมีการอวดโฉมหลังผ่าตัดจริงและโฉมหน้าของนายสุรชัยยังคงเป็นใบหน้าเดิม แต่เพียงใบหน้ากระชับ เต่งตึง ความหย่อนคล้อย รอยเหี่ยวย่นลดลงจะถือว่าเป็นการทำศัลยกรรมด้วยเทคนิคทั่วไป ไม่ใช่เฟซออฟตามที่ ดร.เซปิง โฆษณาสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนว่าเป็นเทคนิคใหม่ ตรงนี้ถือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สามารถเอาผิดได้

น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวว่า การทำศัลยกรรมให้ใบหน้าดูดีขึ้น ลดริ้วรอย เพิ่มความเต่งตึงนั้น มี 2 เทคนิค คือ 1. เฟซลิฟต์ ( Face Lift) เป็นการดึงหน้า ทำตา ปลูกผมเพื่อให้ดูดีขึ้น ทำในผู้ที่มีปัญหาใบหน้าเหี่ยวย่น หย่อนยานหลายๆจุด และ 2. เฟซล็อก ( Face Lock) เป็นการล็อกใบหน้าเฉพาะจุดที่มีปัญหา เช่น รอบดวงตา มุมปาก หรือคิ้ว เป็นต้น ส่วนใหญ่ทำในกลุ่มที่อายุยังไม่มาก กรรมวิธีทำทั้ง 2 รูปแบบเหมือนกัน ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด หลังทำจะช่วยให้มีความเต่งตึงชั่วคราวเท่านั้น และต้องทำใหม่เมื่อมีริ้วรอยปรากฏโดยที่เค้าโครงใบหน้ายังเหมือนเดิม

“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อการโฆษณาผ่าตัดเสริมความงามด้วยวิธีเฟซออฟ ดังนั้น การใช้คำ “เฟซออฟ” โฆษณา จึงเป็นเพียงการใช้คำศัพท์เพื่อหวังผลในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจซึ่งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ถือเป็นการหลอกลวงและกระตุ้นความอยากของประชาชนที่มีความต้องการอยากสวยอยากหล่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สำหรับการป้องกันการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณการให้บริการทางการแพทย์ทั้งการรักษาหรือการเสริมความงามทางสื่อทุกประเภท โดยเฉพาะในโซเซียลมีเดีย จัดว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าสื่อประเภทอื่น เนื่องจากจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อได้ง่าย เพราะมีภาพจริงปรากฏให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง จากการเปรียบเทียบที่ชัดเจน เข้าถึงง่ายตลอดเวลาบนมือถือ กรม สบส.ได้วางแผนความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อดำเนินการป้องปรามแบบรวมศูนย์จัดการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว โดยใช้กฎหมายและกระบวนการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เป็นเครื่องมือในการคลี่คลายปัญหาเพื่อดูแลคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนได้เร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา” อธิบดี สบส.กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น