สบส. ประสาน สคบ. เอาผิด “ดร.เซปิง” โฆษณาชวนเชื่อ “เฟซออฟ” ชี้ ไม่ใช่วิธีศัลยกรรมแบบใหม่ แค่สร้างคำใหม่หวังสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำประชาชนสับสนผ่านโซเชียล มีความผิด กม.คอมพิวเตอร์ เตรียมลุยสอบสถานพยาบาล แพทย์ทำศัลยกรรม “สุรชัย” เชื่อมโยงเอเยนซีหรือไม่ จ่อยกระดับโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต
วันนี้ (17 ก.พ.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการทำศัลยกรรมใบหน้าของนายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง โดยระบุว่า เป็นการทำแบบเฟซออฟ (Face Off) ว่า การทำศัลยกรรมนั้นมีหลายวิธีที่จะทำให้สภาพใบหน้าดีขึ้น แต่สมาคมวิชาชีพด้านศัลยกรรมความงามยืนยันแล้วว่าไม่มีการใช้คำว่าเฟซออฟในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม และไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ และจากข่าวการทำศัลยกรรมของนักร้องคนดังกล่าวก็เป็นเพียงหัตถการเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การดึงหน้า การดึงหน้าผาก ยกกระชับ แก้ปัญหาความหย่อนคล้อย เป็นต้น ไม่ได้เป็นวิธีใหม่เลย “เฟซออฟ” จึงเป็นเพียงการแต่งคำขึ้นมาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้คนเกิดความคาดหวังสูง จึงไม่อยากให้มีการแตกตื่นว่าเป็นวิธีการศัลยกรรมใหม่ที่ทำให้หนุ่มสาวขึ้น ดังนั้น การที่มีการให้ข้อมูลเรื่องเฟซออฟทางโซเชียลมีเดีย จึงถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพราะทำให้ประชาชนสับสน และไม่ใช่ข้อเท็จจริง
“การออกมาให้ข้อมูลเรื่องเฟซออฟของ ดร.เซปิง ไชยสาส์น เป็นการโฆษณาอวดอ้าง ประชาสัมพันธ์เกินจริงหรือไม่นั้น จากการตรวจสอบถือเป็นการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงตามหลักวิชา และมีการบอกว่าทำแล้วจะลดอายุได้มาก ซึ่งข้อมูลทางวิชาการไม่ได้บอกขนาดนั้น เพราะการลดอายุอยู่ที่แต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ดร.เซปิง ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่สถานพยาบาล แต่เป็นเอเยนซี การเอาผิดจึงเป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บบริโภค (สคบ.) เพราะมีกฎหมายในมืออยู่แล้ว ซึ่ง สบส. ได้มีการประสานไปยัง สคบ. แล้ว ส่วนชื่อโครงการ “Face Off ผ่าแหลกศัลยกรรม 10 อย่างบนหน้ากระชากความแก่จาก 60 ให้เหลือ 35 Dr.Xeping” ถือว่าผิดกฎหมายของ สคบ. ด้วย” อธิบดี สบส. กล่าว
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สบส.จะตรวจสอบข้อมูลด้วยว่าสถานพยาบาลและแพทย์ที่ถูกอ้างถึงในการทำศัลยกรรมให้กับนักร้องลูกทุ่งคนดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการออกมาให้ข้อมูลของ ดร.เซปิงด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของ สบส.ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งมีวิธีตรวจสอบอยู่ หากพบความเยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจกับการโฆษณาเข้าข่ายมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และโทษปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกโฆษณา หากเกี่ยวข้องกับแพทย์จะส่งแพทยสภาพิจารณาจริยธรรม
เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงในการทำศัลยกรรม น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมระหว่าง สบส. แพทยสภา สคบ. และกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ในการหาทางควบคุมการโฆษณาเกินจริง โอ้อวด เป็นเท็จ ซึ่งมาตรการลงโทษจะต้องชัดเจนขึ้น โดยจะยกระดับในเรื่องของการเพิกถอนใบอนุญาตสถานพยาบาลและเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพแพทย์
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีสถานเสริมความงามขึ้นทะเบียนกว่า 1,458 แห่ง โดยทั้งหมดนี้จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาลฯ ห้ามอวดอ้างและชักชวนให้ผู้บริโภคไปใช้สถานพยาบาล เช่น อ้างสรรพคุณการรักษาดีที่สุด เป็นเลิศ ซึ่งทำไม่ได้
วันเดียวกัน สบส. ได้ร่วมกับ สคบ. และ บก.ปคบ. ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล ย่านทาวน์อินทาวน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเสริมความงามที่ทำการผ่าตัดให้นายสุรชัย เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเสริมความงาม 30 เตียง ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของ พ.ร.บ. สถานพยาบาลฯ มี นางศิริเพ็ญ พันธุ์ศรีทุม เป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มี นพ.มนัส เสถียรโชค เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่