xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเตรียมเรียกสอบหมอผ่าตัดใบผ่าหน้า “สุรชัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภาเตรียมเรียกสอบ “หมอกมล” คนผ่าตัดใบหน้า “สุรชัย” นักร้องดัง รู้เห็นการโฆษณาอวดอ้างของ “ดร.เซปิง” หรือไม่ มีการห้ามทักท้วง ยับยั้งหรือไม่ เผยคล้ายกรณีคลินิกเสริมสวยชื่อดังจ้างศิลปินโฆษณา “สวยเป๊ะ” ผิดชัดเจน

ความคืบหน้ากรณี นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เข้ารับทำการศัลยกรรมใบหน้าเพื่อให้หนุ่มขึ้น ผ่านโครงการของ ดร.เซปิง ไชยสาส์น ซึ่งมีการออกมาให้ข้อมูลว่าเป็นการทำศัลยกรรมแบบเฟซออฟ (Face Off) ช่วยลดวัยจาก 60 ปี ให้เหลือ 35 ปี ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการศัลยกรรมแบบใหม่ ซึ่งล่าสุดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ยืนยันว่า ไม่ใช่การทำศัลยกรรมแนวใหม่ และถือเป็นการโฆษณาเกินจริง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สามารถดำเนินการเอาผิดได้ และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล ซึ่งรับทำศัลยกรรมให้นายสุรชัย พบว่า ขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มี นางศิริเพ็ญ พันธุ์ศรีทุม เป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มี นพ.มนัส เสถียรโชค เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และมี นพ.กมล พันธุ์ศรีทุม เป็นแพทย์เฉพาะดำเนินการศัลยกรรมตกแต่ง

ล่าสุด วันนี้ (18 ก.พ.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีปรากฏชื่อ นพ.กมล พันธุ์ศรีทุม เป็นผู้ทำการผ่าตัดใบหน้าให้นายสุรชัย ว่า แพทยสภาจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นพ.กมล มีการกระทำที่ผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพเรื่องห้ามโฆษณาหรือไม่ โดยจะเชิญ นพ.กมล มาให้ข้อมูลด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานพยาบาลหรือแพทย์จะไม่ได้รู้เห็นกับการโฆษณาเกินจริงของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ แต่เมื่อรู้แล้วไม่ได้ทักท้วงหรือยับยั้ง แพทยสภาจึงต้องให้อนุกรรมการฯ ตรวจสอบว่ามีมูลหรือไม่ และให้ นพ.กมล ชี้แจง ซึ่งการวินิจฉัยจะมีตั้งแต่ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ ว่า กล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลา และเพิกถอนใบอนุญาต

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ก็มีกรณีคล้ายคลึงกัน คือ คลินิกเสริมความงามที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ได้ใช้ศิลปินนักแสดงมาโฆษณาว่าสวยเป๊ะ และเห็นชื่อของคลินิกชัดเจน ซึ่งเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงชัดเจน ผิดตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 3 ที่กำหนดว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตน และหมวด 7 ที่กำหนดว่า ต้องไม่โฆษณาสถานพยาบาลหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาสถานพยาบาล ซึ่งแพทยสภาจะดำเนินการความผิดกับแพทย์ที่ระบุชื่อเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลแห่งนั้นตามที่แจ้งชื่อไว้ในการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

“กรณีคลินิกแห่งนี้แม้แพทย์ที่แจ้งชื่อเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะอ้างว่าไม่รู้เรื่องการโฆษณาเป็นการดำเนินการโดยฝ่ายการตลาดหรือส่วนอื่น ๆ ของบริษัท แต่ในฐานะแพทย์ที่รับผิดชอบสถานพยาบาล เมื่อมีการโฆษณาเกินจริง โอ้อวดขึ้นก็จะต้องรับผิดชอบด้วย ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของแพทยสภา เพราะชัดเจนเรื่องการโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อต่าง ๆ แม้คนพูดจะไม่ใช่แพทย์ก็ตาม แต่ก็ชัดว่าเป็นการโฆษณา ซึ่งยังแตกต่างจากกรณีที่ ดร.เซปิง นำนายสุรชัยมาให้ข่าวว่าทำการผ่าตัดใบหน้า ซึ่งยังไม่มีการปรากฏชัดว่าเป็นการโฆษณาสถานพยาบาลหรือแพทย์ท่านใดหรือไม่ แต่หากพบว่าเป็นการโฆษณาสถานพยาบาล แพทยสภาก็จะตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับแพทย์ที่เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลที่ถูกระบุว่าผ่าตัดให้นายสุรชัยด้วย” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น