xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม พอช.ใช้งบ 4 พันล้าน เตรียมรองรับผลกระทบหมื่นครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.
MGR Online - โครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล คสช. เดินหน้า ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานพิธีตอกเสาเข็มปฐมฤกษ์โครงการก่อสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในคลองลาดพร้าว คาดเสร็จตามกำหนดในปี 2562 ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านชุมชนริมคลองที่ได้รับผลกระทบจากแนวก่อสร้างเขื่อน ยืนยันพร้อมสนับสนุนโครงการ แต่ขอให้ กทม. ลดแนวความกว้างของเขื่อนเหลือ 25 เมตร เพื่อให้สร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ เผยมีชุมชนในแนวก่อสร้างเขื่อน 74 ชุมชน กว่า 10,000 ครอบครัว ด้าน พอช. เตรียมแผนรองรับที่อยู่อาศัยชาวบ้านใช้งบกว่า 4,000 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองสายหลักในเขตกรุงเทพฯ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มดำเนินการให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว โดยในช่วงแรก (พ.ศ. 2559 - 2561) ประกอบด้วย การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว - คลองถนน - คลองสอง) และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร (ทั้งสองฝั่ง) เพื่อระบายน้ำลงสู่อุโมงค์ยักษ์ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและลงสู่ทะเลต่อไป

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. ที่บริเวณคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ริมคลองลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ได้มีพิธีตอกเสาเข็มปฐมฤกษ์โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านในชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร ที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ลดความกว้างของแนวเขื่อนลง เพื่อให้ชาวชุมชนสามารถรื้อย้ายบ้านและก่อสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า คลองลาดพร้าวมีความสำคัญในการระบายน้ำในเขตกรุงเทพฯ จึงต้องมีการพัฒนาระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจสำคัญของ กทม. แต่เนื่องจากพื้นที่ริมคลองเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมาก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลทุกข์สุกของประชาชนควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการระบายน้ำ และในอนาคตก็จะต้องมีการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวด้วยเพราะคลองต่างๆ เหล่านี้มีศักยภาพในการท่องเที่ยวอยู่แล้ว

“ต้องขอขอบคุณรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันสนับสนุนและบูรณาการในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนริมคลองที่ให้ความร่วมมือ เสียสละเพื่อส่วนรวม หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือโครงการนี้ก็จะเดินหน้าไปไม่ได้ ส่วนข้อเรียกร้องของประชาชนริมคลองที่ต้องการให้ กทม.ลดแนวความกว้างของเขื่อน และเพิ่มพื้นที่ริมคลองเพื่อให้ชาวบ้านสร้างบ้านได้ ตลอดจนการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้น กทม. ก็ยินดีรับฟังและจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปพิจารณา” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นายจำรัส กลิ่นอุบล ตัวแทนเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง กล่าวว่า วันนี้ชาวชุมชนริมคลองได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือต่อทางผู้ว่าฯ กทม.เพื่อขอให้ทางสำนักการระบายน้ำ กทม. ที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนลดแนวความกว้างของเขื่อนในคลองลาดพร้าวจากเดิมที่กำหนดเอาไว้ประมาณ 30 - 38 เมตร ทำให้ชุมชนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากแนวก่อสร้างเขื่อน เพราะทางสำนักการระบายน้ำได้เหลือพื้นที่บนบกหลังแนวเขื่อนให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านใหม่มีความกว้างตลอดแนวคลองประมาณ 12 เมตร เท่านั้น ไม่สามารถรองรับชาวบ้านได้ทั้งหมด และไม่มีพื้นที่สาธารณะให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องรื้อย้ายไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ ไกลจากโรงเรียนเดิมของเด็ก และไกลจากแหล่งอาชีพเดิม

“พวกเราไม่ได้คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. เพราะชาวบ้านที่ปลูกบ้านล้ำลงไปในคลองก็พร้อมที่จะรื้อย้ายออกจากคลองและแนวเขื่อน แต่ กทม. และสำนักการระบายน้ำก็จะต้องเหลือพื้นที่ให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมตามโครงการบ้านมั่นคงด้วย ซึ่งหากลดความกว้างของคลองหรือเขื่อนที่จะก่อสร้างในคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร เหลือประมาณ 25 เมตร กทม. ก็ยังสามารถระบายน้ำลงสู่อุโมงค์เพื่อระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และจะทำให้ชุมชนต่าง ๆ มีพื้นที่เหลือตลอดแนวลำคลองกว้างประมาณ 15 - 20 เมตร พอที่จะสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ ไม่ใช่เหลือเพียง 12 เมตร” นายจำรัส กล่าว

ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวด้วยว่า ตัวแทนชาวบ้านริมคลองในแนวก่อสร้างเขื่อนจำนวน 30 คน ได้เดินทางโดยเรือจากบริเวณวัดลาดพร้าวมายังพื้นที่ริมคลองที่จะมีการตอกเสาเข็มเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อทางผู้ว่าฯ กทม. แต่ได้ถูกเรือของสำนักการระบายน้ำ กทม. ซึ่งมีทหารอยู่ด้วยจำนวน 2 ลำ ปิดกั้นไม่ให้เข้ามายื่นหนังสือ แต่ทางชาวบ้านได้ต่อรองจนสามารถเข้ามายื่นหนังสือผ่านนายทหารระดับสูงที่มาดูแลความสงบในพิธีเพื่อส่งหนังสือให้แก่ผู้ว่า กทม.ได้ โดยทางเครือข่ายระบุไว้ในหนังสือว่าขอให้ กทม.ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายภายใน 15 วัน

นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่ารัฐบาลได้มอบหมายให้ พอช.ที่เคยจัดทำโครงการบ้านมั่นคงให้แก่ประชาชนมาก่อนรับผิดชอบจัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมคลองที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งตามแผนงาน 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) จะมีพื้นที่ดำเนินการในเขตห้วยขวาง วังทองหลาง ลาดพร้าว จตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และสายไหม รวม 74 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน ประชากรรวม 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาท

“ส่วนเรื่องที่ดินกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินริมคลองที่ชุมชนตั้งอยู่ก็จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในระยะยาวราคาถูก ไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพื่อให้ชาวบ้านอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ โดยการย้ายบ้านพ้นแนวเขื่อน จัดผังชุมชนใหม่ หากที่ดินไม่พอเพียง ชาวบ้านก็ต้องรวมกลุ่มกันไปหาซื้อที่ดินใหม่ หรือหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณบางส่วน” ผอ.พอช.กล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่า หากเป็นไปตามแผนงานชุมชนที่มีความพร้อมจะเริ่มรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านใหม่ภายในเดือนเมษายนปีนี้ โดยในปีนี้ พอช.มีแผนรองรับชาวบ้านที่จะรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม จำนวน 26 ชุมชน รวม 3,810 ครัวเรือน ใช้งบ 1,401 ล้านบาทเศษ ส่วนพื้นที่ที่จะดำเนินการอยู่ในเขตสายไหม ดอนเมือง จตุจักร หลักสี่ และห้วยขวาง

ด้านตัวแทนบริษัทริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ประมูลงานก่อสร้างได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท กล่าวว่า ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 1,260 วัน หรือกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562 นั้น ทางบริษัทเชื่อว่าจะสามารถก่อสร้างได้ตามกำหนด แม้ว่าจะมีชาวบ้านที่ยังไม่ยอมรื้อย้ายออกจากแนวเขื่อน แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลและ กทม.จะเจรจากับชาวบ้านได้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวมเพื่อป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีแผนการรองรับด้านที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ไม่ได้ทอดทิ้งหรือไล่รื้อแต่อย่างใด

ส่วนแผนการก่อสร้างของบริษัทนั้นจะแบ่งงานก่อสร้างออกเป็นช่วงๆ จำนวน 8 ช่วง โดยจะเริ่มก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ริมคลองที่ไม่มีบ้านเรือนประชาชนก่อน รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 20 % ของเนื้องานทั้งหมด และหากพื้นที่ใดที่ชุมชนรื้อย้ายแล้วบริษัทก็จะขนเครื่องจักรเข้าไปก่อสร้างได้ทันที

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมฯ รูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร (ทั้งสองฝั่งคลอง) และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 1,645 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อการก่อสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นจะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำฝนและระบายน้ำได้มากกว่าเดิม 80 % หรืออีกกว่าเท่าตัว ทั้งยังทำให้ง่ายต่อการขุดลอกคลองและป้องกันการทรุดตัวของตลิ่งสองฝั่งคลองด้วย

ส่วนน้ำที่ระบายลงสู่คลองจะไหลเข้าสู่อุโมงค์เขื่อนยักษ์ที่มีขนาดความกว้าง 5 เมตรเพื่อลัดออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้ กทม.มีอุโมงค์ระบายน้ำแล้ว 1 แห่ง คือ อุโมงค์พระราม 9 บริเวณปากคลองลาดพร้าวเชื่อมกับคลองแสนแสบ กำลังสร้างอีก 1 แห่งบริเวณถนนรัชดาภิเษก เชื่อมคลองลาดพร้าวกับคลองบางซื่อ และอุโมงค์ในคลองเปรมประชากรที่มีแผนจะสร้างต่อไป เพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและไหลออกสู่ทะเลต่อไป
ผู้ว่าฯ กทม.ประธานพิธีตอกเสาเข็มเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

รื้อบ้านพ้นคลอง
สภาพบ้านริมคลอง
นายจำรัส  กลิ่นอุบล
กำลังโหลดความคิดเห็น