รมว.พม. เปิดศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำแนวลำคลอง และทางระบายน้ำของรัฐบาล เป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านริมคลอง และสนับสนุนการสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เผย นายกรัฐมนตรีสั่งให้เดินหน้าโครงการให้สำเร็จ ตั้งเป้าปี 2559 เดินหน้าบ้านมั่นคงริมคลอง 26 ชุมชน รองรับชาวบ้าน 3,810 ครัวเรือน ใช้งบประมาณ 1,401 ล้านบาทเศษ ด้านกรมธนารักษ์เตรียมลงนาม MoU ร่วมกับ พอช. และ กทม. เพื่อให้ชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ 9 คลอง เช่าที่ดินระยะยาวราคาถูกสร้างบ้านมั่นคง
วันนี้ (20 ธ.ค.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายดารนัย อินสว่าง รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และนางรัตนธร รัตนสกุล ผู้อำนวยการเขตสายไหม ได้เดินทางมาเปิดศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านเอื้ออาทรสายไหม เขตสายไหม เพื่อมอบนโยบายให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการฯ หลังจากนั้น จึงได้นั่งเรือสำรวจสภาพคลองและชุมชนริมคลองลาดพร้าว (เขตสายไหม) และรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำคลองและการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ซอยพหลโยธิน 54
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ โดยมีแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เพื่อให้ชุมชนริมคูคลองมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็มีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในคูคลองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพฯ โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำแนวลำคลองออกมา โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่วนสำนักการระบายน้ำ กทม. จะรับผิดชอบเรื่องการสร้างเขื่อน
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า โครงการนี้ต้องทำให้สำเร็จ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองขึ้นมา เพื่อให้การดำเนินงานจัดสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคูคลองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2559 มีเป้าหมายจะทำในพื้นที่ชุมชนริมคลอง 26 ชุมชน จำนวน 3,810 ครัวเรือน และจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง พอช. กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยศูนย์ปฏิบัติการจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ มีการเกาะติดพื้นที่ เตรียมในเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ และการรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำคูคลอง เพื่อให้การก่อสร้างบ้านเริ่มดำเนินไปได้ภายในเดือนเมษายน 2559 นี้”
ส่วนการที่ยังมีประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจหรือคัดค้านโครงการนั้น รมว.พม. กล่าวว่า จะต้องมีการสื่อสารชี้แจง และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน อยากจะให้ประชาชนอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาประชาชนอยู่อาศัยอย่างไม่ถูกต้อง และอยู่มานานหลายสิบปี จึงมีความผูกพันกับชุมชนเดิม แต่หากมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ก็จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีบ้านที่มั่นคง รวมทั้งน้ำในคลองก็จะใสสะอาดด้วย ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะต้องร่วมกันชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนในเร็ว ๆ นี้
การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำแนวลำคลอง และทางระบายน้ำของรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ครั้งนี้ เป็นผลมาจากการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดย พลเอก ประวิตร ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงแรกให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาริมคลอง มี รมว.พม. เป็นประธาน และมีคณะทำงานระดับพื้นที่ในพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ ซึ่งประกอบด้วย เขตห้วยขวาง, วังทองหลาง, จตุจักร, ลาดพร้าว, บางเขน, หลักสี่, ดอนเมือง และสายไหม โดยแต่ละพื้นที่จะมีผู้อำนวยการเขตในเขตนั้น ๆ เป็นประธานคณะทำงานเพื่อสนับสนุนโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.พอช. กล่าวว่า พอช. ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) มีเป้าหมาย 74 ชุมชน 11,004 ครัวเรือน มีผู้รับผลประโยชน์ 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ โดยในปี 2559 จะเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากรก่อน จำนวน 26 ชุมชน รวม 3,810 ครัวเรือน ใช้งบ 1,401 ล้านบาทเศษ ซึ่งในส่วนของชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ 54 ก็อยู่ในแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2559 เช่นกัน และถือเป็นชุมชนนำร่องในการจัดทำโครงการฯ ในเขตสายไหม
ทั้งนี้ ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ 54 ตั้งอยู่บริเวณริมคลองลาดพร้าว ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม ชาวบ้านรุ่นแรก ๆ อยู่อาศัยมานานไม่ต่ำกว่า 80 ปี ปัจจุบันมีบ้านเรือนจำนวน 65 ครัวเรือน ประชากรรวม 279 คน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3.9 ไร่ เป็นที่ดินราชพัสดุโดยกรมธนารักษ์ดูแล โดยชุมชนได้เข้าร่วมกระบวนการบ้านมั่นคง และมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาในเดือนมิถุนายน 2558 เพื่อเป็นกองทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย มีสมาชิกจำนวน 65 ครัวเรือน ปัจจุบันมีเงินออม 168,600 บาท
นายอวยชัย สุขประเสริฐ ประธานชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ กล่าวว่า ชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำโครงการบ้านมั่นคง และได้ร่วมกับสถาปนิกชุมชนจาก พอช. สำรวจข้อมูลชุมชน มีการออกแบบผังชุมชน และออกแบบบ้าน มีลักษณะเป็นบ้านแถว ขนาด 4 X 7 และ 8 X 7 ตารางเมตร เพื่อรองรับชาวบ้านทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมพื้นที่ส่วนกลางภายในชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น สวนหย่อม สนามเด็กเล่น ศูนย์ชุมชน ฯลฯ
โดยชุมชนได้รับการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมจาก พอช. จำนวน 3,250,000 บาท ส่วนสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านจะเสนอต่อ พอช. ภายในเดือนมกราคม 2559 นี้ พร้อมทั้งจะทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ด้วย ในอัตราตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน ซึ่งหากเป็นไปตามแผนการ ชุมชนจะเริ่มรื้อย้ายบ้านออกจากแนวคลองและก่อสร้างบ้านได้ภายในเดือนเมษายน 2559 และจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
นายพลากร ผอ.พอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์นั้น กรมธนารักษ์ได้สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองของรัฐบาล โดยจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมธนารักษ์สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และตัวแทน กทม. ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เพื่อให้ชาวชุมชนริมคลองจำนวน 9 คลอง ในเขตกรุงเทพฯซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ ได้เช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ในระยะยาวราคาถูก โดยมี รมว.พม. และ รมว.คลัง เป็นประธานและสักขีพยานร่วม โดยในปี 2559 กรมธนารักษ์จะให้ชุมชนริมคลองที่จะจัดทำโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 26 ชุมชนในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรทำสัญญาเช่าที่ดินก่อน ส่วนชุมชนริมคลองอื่น ๆ เช่น คลองบางซื่อ คลองประเวศร์ ฯลฯ จะดำเนินการในปีต่อไป
ส่วนโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมของ กทม. นั้น ในช่วงแรก (พ.ศ. 2559 - 2561) จะดำเนินการในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว - คลองถนน - คลองสอง) คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลต่อไป รูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีตความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตร