เครือข่ายชาวบ้านริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. กว่า 40 ชุมชน ยืนยันพร้อมที่จะคืนคลองให้แก่ส่วนร่วม โดยการรื้อบ้านออกจากคลองแล้วสร้างบ้านใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคงของรัฐบาล แต่ติดปัญหาการดำเนินงานล่าช้า เพราะ กทม. ยังไม่ชี้ชัดเรื่องแนวคลอง และการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ปล่อยชาวบ้านเคว้ง เพราะรื้อบ้านนานกว่า 4 เดือนแล้ว ยังไม่ได้สร้างบ้าน แถมถูกเขตสั่งระงับการก่อสร้าง เพราะมีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์คัดค้าน
วันนี้ (19 พ.ย.) เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านในชุมชนริมคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ได้จัดประชุมร่วมกัน โดยมีตัวแทนจากชุมชนริมคลองต่าง ๆ เช่น คลองเปรมประชากร เขตหลักสี่, คลองวังหิน เขตจตุจักร, คลองบางบัว เขตบางเขน และคลองถนน เขตสายไหม ประมาณ 40 ชุมชน เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน
นายเลิศ ตุลาธาร ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาชุมชนฯ กล่าวว่า การประชุมของตัวแทนเครือข่ายในวันนี้ เนื่องมาจากโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลในคลองต่าง ๆ ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ จะทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมคลองในแนวสร้างเขื่อนต้องรื้อย้ายบ้านเรือนให้พ้นคลอง โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวบ้านตามโครงการบ้านมั่นคง
“ชาวบ้านส่วนใหญ่พร้อมที่จะทำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และถูกกฎหมาย แต่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการระบายน้ำ กทม. และกรมธนารักษ์ ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องแนวเขื่อนที่จะสร้างว่าจะมีความกว้างกี่เมตร ทำให้กรมธนารักษ์ในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดินริมคลองยังไม่ให้ชาวบ้านเช่าที่ดินเพื่อสร้างบ้าน และบางชุมชนที่รื้อบ้านพ้นแนวคลองไปนานหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้สร้างบ้าน ได้แต่ตอกเสาเข็ม เพราะมีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ไปคัดค้านกับทางสำนักงานเขต จนสำนักงานเขตต้องสั่งระงับการก่อสร้าง” นายเลิศ กล่าว
นางสาวดุสิตธร ทิวะกะลิน ประธานชุมชนคนรักถิ่น ริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ กล่าวว่า ชุมชนมีบ้านเรือนทั้งหมด 140 หลัง เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงรวม 102 หลัง เริ่มรื้อบ้านเฟสแรก 7 หลังเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นบ้านที่ปลูกล้ำลงไปในคลอง 4 หลัง และบนฝั่ง 3 หลัง โดยจะก่อสร้างบ้านเฟสแรก 7 หลังในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และเริ่มตอกเสาเข็มไปแล้ว แต่เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) สำนักงานเขตได้มาสั่งระงับการก่อสร้าง โดยอ้างว่าเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งชุมชนแจ้งวัฒนะซอย 5 ที่กำลังจะก่อสร้างบ้านเฟสแรก 9 หลังก็ติดปัญหานี้เช่นเดียวกัน
“เราทำตามนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ และชาวบ้านก็ยอมรื้อบ้านออกจากคลองแล้ว ชาวบ้านก็หวังว่าเมื่อรื้อบ้านแล้วจะได้สร้างบ้านใหม่เร็ว ๆ แต่ตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะนานกว่า 4 เดือน ที่ชาวบ้านต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เด็ก ๆ และคนแก่ก็ลำบาก บางครอบครัวพิการก็ไม่สะดวกที่จะไปอาศัยคนอื่นอยู่ต้องหาบ้านเช่า ทั้ง ๆ ที่มีรายได้ไม่มากนัก จึงอยากให้รัฐบาลลงมาดูแลมาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย”
นางสาวดุสิตธร กล่าวด้วยว่า การประชุมของเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ ได้ข้อสรุป 4 ประเด็น คือ 1. ให้สำนักการระบายน้ำ กทม. ทำผังระยะคลองเป็นภาพรวมทั้งชุมชนตลอดแนวคลองที่จะสร้างเขื่อน เพื่อให้ชาวบ้านรู้แนวความกว้างของคลองที่จะก่อสร้างเขื่อน แล้วนำมาวางแผนในการจัดผังชุมชนใหม่ให้พ้นแนวเขื่อน เพื่อก่อสร้างบ้านต่อไป 2. เสนอให้สำนักงานเขตในพื้นที่สร้างเขื่อน แต่งตั้งคณะกรรมการโดยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
3. สอบถามความชัดเจนเรื่องแนวคลองจากสำนักการระบายน้ำ (สนน.) โดยแต่ละชุมชนมีข้อเสนอต่อ สนน. แตกต่างกันตามสภาพความกว้างของคลอง เช่น คลองเปรมประชากร ควรมีความกว้าง 25 เมตร เพื่อให้ชาวบ้านอยู่ได้ เขื่อนสร้างได้ ไม่ใช่กำหนดแนวความกว้างตลอดแนวเขื่อน 38 เมตร เพราะจะทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ ต้องไปหาที่ดินใหม่ ไกลจากที่ทำงานและโรงเรียน และสอบถามเรื่องระยะเวลาในการก่อสร้างเขื่อน โดยชาวบ้านจะส่งตัวแทนไปที่ สนน. ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ และ 4. ให้นำเงินส่วนต่างจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งรัฐบาลตั้งเอาไว้ประมาณ 2,426 ล้านบาท แต่บริษัทรับเหมาประมูลได้ในวงเงิน 1,600 ล้านบาทเศษ มาสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ว่า ชาวบ้านทั้ง 24 ชุมชน ในเขตจุตจักร, บางเขน, หลักสี่, ดอนเมือง และสายไหม ที่อยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาคลอง และพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง แต่มีปัญหาและอุปสรรคจากการที่มีกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบ้านเช่า เจ้าของร้านอาหารในพื้นที่ของกรมธนารักษ์ไม่ต้องการรื้อย้าย ร่วมมือกับนักการเมืองทั้งในท้องถิ่น และระดับชาติ คัดค้านโครงการ
“เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการป้องกันน้ำท่วมและโครงการบ้านมั่นคงต่อไป และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์และออกมาคัดค้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านใหม่ที่มั่นคงต่อไป” แถลงการณ์ระบุในตอนท้าย
สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ในช่วงแรก (พ.ศ. 2558 - 2560) ประกอบด้วย การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน จะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนธันวาคมนี้ งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาทเศษ หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อน คือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กทม. ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตร ตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย
ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะรับผิดชอบในเรื่องที่อยู่อาศัย โดย พอช. มีแผนการรองรับที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจำนวน 66 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน ประชาชน 58,838 คน โดยมีรูปแบบการจัดที่อยู่อาศัย คือ 1. กรณีชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลอง และอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ จะต้องมีการจัดผังชุมชนใหม่ เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างบ้านใหม่ได้ โดยกรมธนารักษ์ยินดีให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในรูปแบบของสหกรณ์เคหสถานในราคาถูก ระยะเวลา 30 ปี และ พอช. สนับสนุนสินเชื่อ รวมทั้งงบอุดหนุนสาธารณูปโภค 2. กรณีที่ดินเดิมไม่พอเพียง อาจจะต้องจัดหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5 - 10 กิโลเมตร จากชุมชนเดิม เพื่อสะดวกต่อการทำงาน สถานศึกษา โดยอาจขอซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง 3. จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่