อธิบดีกรมธนารักษ์ลงนามข้อตกลงร่วมกับ พอช. และ กทม. สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงริมคลองที่อยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาบุกรุกริมคูคลองของรัฐบาล โดยจะให้ชาวบ้าน 9 คลองสายหลักในกรุงเทพฯ เช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี ประเดิมปี 2559 นำร่องในคลองลาดพร้าวและเปรมประชากรรวม 43 ชุมชน ด้านกระทรวง พม. เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยขับเคลื่อนโครงการ ขณะที่ ครม. อนุมัติโครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว วงเงิน 1,645 ล้านบาท
วันนี้ (22 ธ.ค.) เวลา 15.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลองเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ระหว่างกรมธนารักษ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และกรุงเทพมหานคร โดยมี นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. และ นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รักษาราชการ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ร่วมลงนาม และมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำคลองในกรุงเทพฯ และพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคูคลอง โดยจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกจากลำคลอง โดยเฉพาะบ้านเรือนและชุมชนที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินริมคลอง ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ แต่เพื่อให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ ทั้ง 3 หน่วยงานจึงได้ทำบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ โดยมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยของชุมชนริมคลองผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในที่ดินราชพัสดุ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะให้มีความมั่นคงและมีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี โดยชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาที่ดินและการดำเนินงานร่วมกันในอันที่จะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม
สำหรับเป้าหมายในการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า 1) เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและมาตรการในการบริหารจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ ลำน้ำสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ 2) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3) พิจารณาการใช้ที่ดินราชพัสดุที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์อื่น มาจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ริมคลองที่มีความจำเป็นและมีฐานะยากจน 4) เพื่อร่วมจัดกระบวนการและจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนริมคลอง ทั้งด้านความมั่นคงในการอยู่อาศัย การมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี อีกทั้งอยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 5) เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับกฎเกณฑ์การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ยืดหยุ่น เพื่อให้เอื้ออำนวยและสอดคล้องกับวิถีชีวิตรายได้และการพัฒนาของชุมชนริมคลองซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย และ 6) เพื่อประสานหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องและสนใจเข้าร่วมสนับสนุนงานด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม เพื่อเพิ่มคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของชุมชนผู้มีรายได้น้อย
“รัฐบาลมีโครงการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำคลองและพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมด 9 คลองสายหลักในกรุงเทพฯ คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระโขนง คลองพระยาราชมนตรี และคลองสามวา ซึ่งที่ดินริมคูคลองทั้งหมดเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ แต่ที่ผ่านมาทางราชการไม่ได้มีการจัดระเบียบการอยู่อาศัยในที่ดินริมคูคลอง ดังนั้น เมื่อมีการจัดระเบียบแล้วก็จะทำให้ประชาได้เช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องและมั่นคง และช่วยกันพัฒนาชุมชนและสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในปี 2559 นี้ กรมธนารักษ์จะให้ชาวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรได้ทำสัญญาเช่าที่ดินก่อนจำนวน 43 ชุมชน ส่วนคลองอื่น ๆ ก็จะดำเนินการในปีต่อ ๆ ไป” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.พอช. กล่าวว่า พอช. ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) มีเป้าหมาย 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน มีผู้รับผลประโยชน์ 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ แยกเป็น 1. งบสนับสนุนสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย 880 ล้านบาท 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 880 ล้านบาท 3. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,200 ล้านบาท และ 4. สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาองค์กรชาวบ้าน และติดตามประเมินผล 100 ล้านบาท โดยในปี 2559 จะเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากรก่อน จำนวน 26 ชุมชน รวม 3,810 ครัวเรือน ใช้งบ 1,401 ล้านบาทเศษ ส่วนพื้นที่ที่จะดำเนินการอยู่ในเขตสายไหม ดอนเมือง จตุจักร หลักสี่ และห้วยขวาง
“การลงนามในบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ชาวชุมชนริมคูคลองมีที่ดินและที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง ถูกกฎหมายและมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่รื้ออีกต่อไป ชาวบ้านสามารถอยู่ในที่ดินเดิมเพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การทำงาน หรือลูกหลานอยู่ในสถานศึกษาเดิมได้ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้าจะได้รับความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น และในอนาคตก็จะต้องมีการเชื่อมเส้นทางการคมนาคมในคลองกับรถไฟฟ้าด้วย” ผอ.พอช. กล่าว
ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า สำหรับชุมชนริมคลองที่มีพื้นที่เหลือน้อยจากแนวสร้างเขื่อนหรือไม่สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ พอช. ก็จะสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันไปจัดหาที่ดินของหน่วยงานรัฐที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเช่าหรือจัดซื้อ เช่น ที่ดินของบรรษัทบริหารทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง หรือที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ เช่น บ้านเอื้ออาทร ทั้งนี้ พอช. กำลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้านริมคลองดังกล่าว
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่รุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ โดยมีแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เพื่อให้ชุมชนริมคูคลองมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็มีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในคูคลองเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพฯ โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำแนวลำคลองออกมา โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยของประชาชน ส่วนสำนักการระบายน้ำ กทม. จะรับผิดชอบเรื่องการสร้างเขื่อน
“กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองขึ้นมาตั้งอยู่ที่เขตสายไหม เพื่อให้การดำเนินงานจัดสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคูคลองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2559 มีเป้าหมายจะทำในพื้นที่ชุมชนริมคลอง 26 ชุมชน จำนวน 3,810 ครัวเรือน และจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง พอช. กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ และฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยศูนย์ปฏิบัติการจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ มีการเกาะติดพื้นที่ เตรียมในเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ และการรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำคูคลอง เพื่อให้การก่อสร้างบ้านเริ่มดำเนินไปได้ภายในเดือนเมษายน 2559 นี้”
จากการสำรวจข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในกรุงเทพฯ มีคูคลองถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน 1,161 คลอง ครัวเรือนที่รุกล้ำ 23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน ซึ่งบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำคลองนี้ ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดน้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้น จึงต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองเพื่อไม่ให้ขวางทางเดินของน้ำ โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำขึ้นมา
โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ. 2559 - 2561) ประกอบด้วย การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว - คลองถนน - คลองสอง) คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่แนวคลองด้านตะวันออก และลงสู่ทะเลต่อไป รูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีตความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน บริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างเขื่อนได้ในช่วงต้นปี 2559 (ขณะนี้กำลังรอการอนุมัติโครงการและเซ็นสัญญากับ กทม.) ขณะที่ชุมชนแนวเขื่อนจะเริ่มรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านใหม่ภายในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในวันนี้ (22 ธันวาคม) คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้ว โดยบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับเหมาจะเข้าพื้นที่เพื่อทำการก่อสร้างในชุมชนที่ชาวบ้านได้ทำการรื้อย้ายบ้านพ้นคลองแล้ว โดยเฉพาะในบริเวณชุมชนริมคลองบางบัว (คลองลาดพร้าว) เขตบางเขน และหลักสี่