xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน แจงสื่อไม่มีเหลือบในโครงการบ้านมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผอ.พอช.
ผอ.พอช. แจงสื่อกรณีอดีต สปช. ร้องเรียนโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลอง ไม่โปร่งใส และทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้จากการสร้างบ้านใหม่ เผย เป็นการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำริมคลอง และจัดผังชุมชน - สร้างบ้านใหม่ เพื่อให้สำนักการระบายน้ำ กทม. สามารถสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ ส่วนกระบวนการสร้างบ้านมั่นคง มีคณะกรรมการชุมชน และชาวบ้านช่วยกันบริหารและตรวจสอบ หากโครงการใดไม่โปร่งใส สตง. พร้อมเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย

วันนี้ (17 พ.ย. 2558) นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่า นายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายสังคมได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนกรณีบ้านมั่นคง ซึ่งดำเนินการโดย พอช. ว่า การจัดทำโครงการบ้านมั่นคงเป็นช่องทางการหากินของคณะกรรมการชุมชน มีการดำเนินการไม่โปร่งใส บุกรุกพื้นที่เพื่อสร้างบ้านริมคลอง รวมทั้งการอ้างว่าการสร้างบ้านมั่นคงทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้นั้น ตนขอชี้แจงว่า โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากการจัดทำโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีต เพื่อระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล โดยดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 เพื่อกำหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด และการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ โดยจะเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าว - คลองบางซื่อ - คลองเปรมประชากร และคลองถนน มีสำนักการระบายน้ำ กทม. รับผิดชอบในการก่อสร้างเขื่อน

“ในฐานะที่ พอช. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ปี 2546 จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน โดยกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ริมคลองก็จะอนุญาตให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในระยะยาว 30 ปี ในราคาถูก และถูกต้องตามกฎหมาย ส่วน พอช. ก็จะสนับสนุนเรื่องงบประมาณด้านสาธารณูปโภค และให้กู้ยืมสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านในระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และ กทม. สามารถสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้” ผอ.พอช. ชี้แจง

ผอ.พอช.กล่าวต่อไปว่า โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลอง พอช. ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ที่ชุมชนบางบัว คลองบางบัว เขตบางเขน, ชุมชนเชิงสะพานไม้ 1 เขตหลักสี่ ฯลฯ จำนวน 30 ชุมชน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันสร้างเสร็จไปแล้ว 715 หลัง

ส่วนกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงนั้น ชาวบ้านจะต้องมีการรวมตัวกัน มีคณะกรรมการรับผิดชอบ สำรวจข้อมูลในชุมชน เช่น จำนวนบ้านเรือน รายได้ที่จะสามารถผ่อนส่งได้ ฯลฯ และจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นทุนในการก่อสร้างบ้าน โดย พอช. จะสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน ทางเดินเท้า ระบบประปา ไฟฟ้า บ่อบำบัดน้ำเสียรวม สวนหย่อม สนามเด็กเล่น ฯลฯ และสนับสนุนสินเชื่อในการก่อสร้างบ้าน โดยชาวบ้านจะต้องออมเงินให้ได้ 10% ของวงเงินก่อสร้าง แล้วจึงยื่นโครงการเพื่อขอใช้สินเชื่อ โดย พอช. จะให้สินเชื่อระยะยาว 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี หลังจากนั้น ชาวบ้านจะต้องร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการ

“จากการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงริมคลองที่ผ่านมา พอช. ได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการชุมชนเพื่อดูว่าชาวบ้านมีรายได้เพียงพอที่จะผ่อนส่งสินเชื่อเดือนละเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มีความสามารถในการผ่อนชำระระหว่าง 1,500 - 2,000 บาทต่อเดือน และออกแบบบ้านร่วมกับชาวบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับฐานะของชาวบ้าน ไม่ได้เป็นการก่อหนี้สินให้กับชาวบ้าน แต่เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกขับไล่อีกต่อไป เพราะเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ผอ.พอช.กล่าว

นอกจากนี้ ผอ.พอช. ยังกล่าวด้วยว่า กรณีการร้องเรียนว่าคณะกรรมการชุมชนมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีการดำเนินงานไม่โปร่งใสนั้น ที่ผ่านมา พอช.ได้ร่วมกับคณะกรรมการชุมชน รวมทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบในชุมชนที่มีการร้องเรียนแล้ว เช่น ชุมชนก้าวหน้า, ชุมชนชายคลองบางบัว เขตหลักสี่ ฯลฯ ซึ่งหากชุมชนใดตรวจพบความไม่ถูกต้องก็จะร่วมกันแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมนี้ สำนักการระบายน้ำจะเริ่มลงมือก่อสร้างภายในเดือนธันวาคมนี้ โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ. 2558 - 2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาทเศษ

ส่วน พอช. มีแผนการรองรับที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจำนวน 66 ชุมชน จำนวน 11,004 ครัวเรือน ประชาชน 58,838 คน โดยมีรูปแบบการจัดที่อยู่อาศัย คือ 1. กรณีชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ จะต้องมีการจัดผังชุมชนใหม่ เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างบ้านใหม่ได้ 2. กรณีที่ดินเดิมไม่พอเพียง อาจจะต้องจัดหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5 - 10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เพื่อสะดวกต่อการทำงาน สถานศึกษา โดยอาจขอซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง 3. จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

ด้านแหล่งข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในพื้นที่เขตหลักสี่ เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการมีแกนนำบางส่วนเป็นเจ้าของบ้านเช่า ซึ่งมีบ้านเช่าอยู่ในชุมชนจำนวนหลายหลัง หากมีการรื้อบ้านเพื่อปรับผังชุมชนใหม่ เจ้าของบ้านเช่าเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ และจะได้รับสิทธิ์ในการสร้างบ้านใหม่เพียง 1 หลัง เท่ากับชาวบ้านคนอื่น ๆ รวมทั้งมีชาวบ้านที่ไม่อยากรื้อย้ายบ้าน และเจ้าของร้านอาหารที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของกรมธนารักษ์โดยไม่ถูกกฎหมาย ดังนั้น จึงได้ร่วมกันร้องเรียนและคัดค้านโครงการเพียงบางส่วนไม่ใช่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งในฐานะ คสช. ในพื้นที่ก็ได้รายงานสถานการณ์ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ดำเนินการต่อไปแล้ว
บ้านมั่งคงริมคลองบางบัว เขตหลักสี่
กำลังโหลดความคิดเห็น