กลุ่มชาวบ้านสนับสนุนโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมยื่นหนังสือต่อ คสช. และ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกลุ่มคัดค้านที่เสียผลประโยชน์ ด้าน ผอ.พอช. แจงสนองนโยบายรัฐบาลให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัย และ กทม. สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ หลังกลุ่มคัดค้านโครงการยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. กล่าวหา ผอ.เขตหลักสี่ และ ผอ.พอช. ทุจริตต่อหน้าที่ที่ให้ก่อสร้างบ้านมั่นคงริมคลองก่อนได้รับอนุญาต
หลังจากช่วงเช้าของวันนี้ (26 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา กลุ่มองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำชาวบ้านจากชุมชนริมคลองย่านเขตหลักสี่ประมาณ 150 คน เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ทางผู้อำนวยการเขตหลักสี่และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ควบคุมตรวจสอบโครงการบ้านมั่นคง ปล่อยให้ประธานชุมชนและคณะกรรมการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการบ้านมั่นคงริมคลองบางบัว ปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างไปก่อนได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตเขตหลักสี่ ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารปี 2522 นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความขัดแย้งของชาวบ้านในชุมชน
กลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง นำโดย นายสมชาย นาคเทียม ตัวแทนจากเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง นำตัวแทนชาวบ้านประมาณ 40 คน มายื่นหนังสือถึง คสช. ที่กองทัพบกและแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะที่ดูแลพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน เพื่อให้ตรวจสอบแกนนำกลุ่มคัดค้านโครงการบ้านมั่นคงว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ เนื่องจากแกนนำเหล่านี้มีทั้งกลุ่มเจ้าของบ้านเช่าในชุมชนริมคลองในเขตหลักสี่ รวมทั้งเจ้าของร้านอาหารในย่านดอนเมือง ซึ่งมีเนื้อที่เกือบ 1 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่บุกรุกของกรมธนารักษ์ ดังนั้น หากมีการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง กลุ่มที่คัดค้านเหล่านี้จะต้องถูกรื้อย้ายเพื่อให้ทาง กทม. สามารถสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ จึงได้ร่วมกับชาวบ้านที่ไม่อยากรื้อย้ายออกจากคลอง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งนักการเมืองในเขตหลักสี่คัดค้านโครงการดังกล่าว
“ในช่วงเย็นพวกเรายังได้ไปยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ด้วย เพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของชาวบ้านในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการรื้อย้ายบ้านออกจากคลองเพื่อให้ กทม.สามารถก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ และขอให้ตรวจสอบแกนนำของกลุ่มคัดค้านบางคนที่มีฐานะหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานรัฐ แต่ได้ใช้อำนาจข่มขู่ชาวบ้าน และคัดค้านโครงการของรัฐบาล” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า การกล่าวหาว่าชาวบ้านก่อสร้างบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางสำนักงานเขตนั้น ข้อเท็จจริงชาวบ้านเคยไปยื่นหนังสือต่อทางเขตแล้ว แต่กลุ่มคัดค้านได้มากดดันต่อทางเขตไม่ให้อนุญาต เพราะกลัวว่าหากสามารถสร้างบ้านมั่นคงได้ บ้านเรือนหรือบ้านเช่า และร้านอาหารที่อยู่ริมคลองก็จะถูกรื้อย้ายด้วย ส่วนการมายื่นหนังสือต่อตัวแทน คสช. วันนี้ ทางตัวแทน คสช. ได้แจ้งกับทางชาวบ้านว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อตรวจสอบข้อมูล หลังจากนั้น จึงจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชา คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน คสช.ทราบและสั่งการต่อไป
นายกิตติชัย เรืองมาลัย ประธานชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 เขตหลักสี่ กล่าวว่า ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 ได้เซ็นเอ็มโอยูกับกรมธนารักษ์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 เพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง ส่วนการก่อสร้างที่เพิ่งเริ่มต้นนี้เป็นบ้านมั่นคงเฟสใหม่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ชาวบ้านจึงยอมรื้อบ้านที่รุกล้ำริมคลองออกเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล และจะสร้างบ้านมั่นคงขึ้นมาใหม่จำนวน 93 หลัง โดยจะสร้างเฟสแรก 17 หลัง ชุมชนได้ตอกเสาเข็มและลงเสาเอกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ถูกกลุ่มคัดค้านมาร้องเรียนต่อทางเขต ทำให้ชาวบ้านที่รื้อบ้านเรือนไปแล้วเดือดร้อนเพราะสร้างบ้านไม่ได้ และไม่มีที่อยู่
ด้าน นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า การดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเป็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชนแออัด ซึ่ง พอช.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนโครงบ้านบ้านมั่นคงริมคลองที่กำลังจะเริ่มดำเนินการนี้ เนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมใน กทม. ในคลองหลัก คือ คลองลาดพร้าว บางบัว บางซื่อ และคลองเปรมประชากร จึงต้องมีการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนฯ
“พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านริมคลอง เพื่อให้ กทม. สร้างเขื่อนได้ โดยการสร้างบ้านมั่นคงขึ้นมา เพื่อให้ชาวบ้านริมคลองมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ช่วยกันดูแลรักษาคลอง และมีบ้านเรือนที่มั่นคง ส่วนกรมธนารักษ์ซึ่งดูแลที่ดินริมคลองก็จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในระยะยาวและราคาถูก ซึ่งในชุมชนริมคลองที่สามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ พอช.ก็จะสนับสนุนสินเชื่อให้ชาวบ้านใช้สร้างบ้าน โดยชาวบ้านจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและรับผิดชอบโครงการ” ผอ.พอช. กล่าวและว่า หากทาง ปปช.จะตรวจสอบโครงการทาง พอช. ก็ยินดี เพื่อให้โครงการมีความโปร่งใส เพราะเป็นโครงการของรัฐบาล
สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำ กทม. จะดำเนินการในช่วงแรก (พ.ศ. 2558 - 2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล. และประตูระบายน้ำ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหง ไปยังคลองลาดพร้าว - บางบัว - บางซื่อ - คลองเปรมประชากร - คลองถนน ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำไปทางกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตความยาวทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาทเศษ โดยสำนักการระบายน้ำมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้หลังจากที่ชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนพ้นแนวเขื่อนแล้วและเข้าสู่กระบวนการสร้างบ้านมั่นคง อย่างไรก็ตาม การออกมาคัดค้านโครงการบ้านมั่นคงอาจจะทำให้การก่อสร้างเขื่อนต้องล่าช้าออกไป