กลุ่มคัดค้านเดินหน้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ตรวจสอบการทุจริต และระงับโครงการบ้านมั่นคงริมคลองเอาไว้ก่อน ด้าน ผอ.พอช. ชี้แจงตรวจพบการใข้เงินผิดประเภทของประธานสหกรณ์ฯ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2558 แล้ว พบเงินหายเกือบ 3 ล้านบาท สั่งให้ประธานสหกรณ์นำเงินมาชดใช้ภายในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ หากเลยกำหนดเตรียมส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการต่อไป ด้านชาวบ้านที่สนับสนุนบ้านมั่นคงจี้ให้รัฐตรวจสอบแกนนำกลุ่มคัดค้าน เชื่อกลัวเสียผลประโยชน์เพราะเป็นเจ้าบ้านเช่าและร้านอาหาร
นายศรีสุวรรณ ควรขจร ที่ปรึกษาของเครือข่ายสิทธิชุมชนคนริมคลอง กล่าวว่า ในวันนี้ เวลา 13.00 น. ตัวแทนชาวบ้านได้มายื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.ธรรมศักดิ์ วิชชาระยะ รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาการรุกล้ำคูคลองกรุงเทพฯ ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ เพื่อร้องเรียนไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีบ้านมั่นคงที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. โดยมีเนื้อหา ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ พนักงาน พอช. และประธานชุมชนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง อาจมีการแสวงหาผลประโยชน์ จึงขอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง 2. หากพบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐก็ขอให้มีการลงโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง หากเป็นประชาชนก็ขอให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย และ 3. ขอให้ระงับโครงการบ้านมั่นคงริมคลองเอาไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อเท็จจริง หลังจากนั้น จึงให้สำนักการระบายน้ำมาทำการรังวัดแนวคลองที่จะก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าชุมชนใดบุกรุกแนวคลอง หรือไม่บุกรุก
ในวันเดียวกัน ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายสิทธิชุมชนคนริมคลองได้ยื่นหนังสือให้มีตรวจสอบเรื่องการทุจริตในโครงการบ้านมั่นคงนั้น ทาง พอช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงขอชี้แจง ดังนี้
1. พอช. ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตั้งแต่ปี 2546 มีพื้นที่ดำเนินการในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว) 43 ชุมชน ซึ่งในขณะนั้น ทางรัฐบาลยังไม่มีนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคลอง หรือกำหนดแนวคลองที่จะสร้างเขื่อนแต่อย่างใด แต่ทาง พอช. ได้ร่วมกับชุมชนและกรมธนารักษ์ในฐานะดูแลที่ดินได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาเช่าจำนวน 6 ชุมชน มีบันทึกความร่วมมือกับกรมธนารักษ์เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวน 4 ชุมชน มีการออกแบบวางผังเพื่ออยู่อาศัยในชุมชนเดิม 19 ชุมชน ไม่สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิม 6 ชุมชน และเตรียมจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน 8 ชุมชน ซึ่งในการดำเนินการบ้านมั่นคงนั้น ชาวบ้านจะต้องมีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานขั้นมาเพื่อบริหารโครงการ
2. จากการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงที่ผ่านมา พอช. มิได้นิ่งนอนใจ หากมีข้อมูลการทุจริต พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สตง. ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า สหกรณ์เคหสถานชุมชนก้าวหน้า จำกัด เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ มีการใช้เงินผิดประเภท โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 มีการก่อสร้างบ้านเรือนประมาณ 90 หลัง และมีการขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. เพื่อนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภคจำนวน 3,741,510 บาท แต่จากการตรวจสอบของ พอช.พบว่า มีการใช้จ่ายจริงเพียง 781,000 บาท ดังนั้น ทาง พอช. จึงได้ทำหนังสือลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 แจ้งให้ นางชูศรี รอดบำรุง ในฐานะประธานสหกรณ์เคหสถานชุมชนก้าวหน้าฯ นำเงินที่เหลือจำนวน 2,960,516 บาทมาคืนให้แก่ พอช. ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2558
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา นางชูศรี ยังมิได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาส่งมอบให้แก่ พอช. ทาง พอช. จึงทำหนังสือแจ้งเตือนลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 เพื่อให้นางชูศรีส่งมอบเงินภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนฉบับนี้ หากไม่นำส่งคืนเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาดังกล่าว พอช. จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
“หากในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 นี้ นางชูศรี ยังไม่นำเงินมาคืนให้แก่ พอช. ก็จะส่งเรื่องให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย เพราะเป็นงบประมาณของแผ่นดิน ส่วนในกรณีกล่าวหาผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ พอช. นั้น ทางสถาบันฯ พร้อมที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ เพื่อความสุจริตและโปร่งใส” ผอ.พอช. กล่าว
ขณะเดียวกัน ในวันนี้ช่วงเช้า ชาวบ้านริมคลองในนาม “เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง” ประมาณ 100 คน นำโดยนายสมชาย นาคเทียม ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้ไปยื่นหนังสือที่กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร ที่ทำการ กทม. 2 ดินแดง เนื่องจากกองระบบคลอง สนน. รับผิดชอบเรื่องการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม แต่ที่ผ่านมา ชาวชุมชนริมคลองหลายชุมชนยังไม่สามารถก่อสร้างบ้านมั่นคงได้ เนื่องจากบางคลอง เช่น คลองเปรมประชากร เจ้าหน้าที่ สนน. ยังไม่ได้สำรวจและวัดแนวความกว้างของคลอง ชาวบ้านจึงไม่สามารถทำเรื่องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลที่ดินได้
นายสมชาย กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายฯ มายื่นหนังสือเรียกร้อง โดยเฉพาะในประเด็นของชาวบ้านริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ ได้รื้อถอนบ้านออกจากคลองไปแล้ว 2 ชุมชน คือ แจ้งวัฒนะ 5 และคนรักถิ่น เพื่อเตรียมสร้างบ้านมั่นคง แต่ถูกกลุ่มคัดค้านไปร้องเรียนต่อทางสำนักงานเขตหลักสี่ให้ระงับการก่อสร้าง อ้างว่า ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ชาวบ้านที่รื้อถอนบ้านเรือนไปแล้วประมาณ 20 หลัง ได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะก่อสร้างบ้านไม่ได้
สำหรับข้อเรียกร้อง มีดังนี้ 1. เนื่องจากคลองเปรมประชากร มีขนาดคับแคบ จึงขอให้ สนน. กำหนดแนวความกว้างของคลองเพื่อก่อสร้างเขื่อนที่ 25 เมตร เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีพื้นที่เหลือสำหรับวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย 2. ขอให้ สนน. มาทำการสำรวจและรังวัดแนวคลองโดยเร็ว เพื่อที่ชาวบ้านจะได้ทำเรื่องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์และก่อสร้างบ้านต่อไปได้ และ 3. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ หากมีปัญหาต่าง ๆ คณะกรรมการจะได้พิจารณาหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การพิจารณาหรือกำหนดแนวเขื่อน ความกว้างของเขื่อน
สำหรับข้อเสนอของกลุ่มคัดค้านบ้านมั่นคงที่อ้างการทุจริตและให้ระงับโครงการบ้านมั่นคงริมคลองก่อนนั้น นายสมชาย กล่าวว่า อาจมีบางชุมชนที่คณะกรรมการอาศัยช่องโหว่แอบทำการหาผลประโยชน์หรือทุจริต ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นด้วยกับการตรวจสอบ หากใครทำผิดก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ชุมชนที่ดี ๆ มีผู้นำที่ดีก็มีอยู่มาก และสามารถทำโครงการบ้านมั่นคงได้สำเร็จไปแล้วหลายชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกลัวถูกไล่รื้อ และสามารถพัฒนาชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ชาวบ้านเกิดความสามัคคีมีการพัฒนาชุมชนร่วมกันได้
“โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่ดี ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาชุมชนร่วมกัน หากใครทุจริตก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ไประงับโครงการทั้งหมด เพราะจะทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เดือดร้อนและเสียโอกาสในการพัฒนาชุมชน แต่ทางเครือข่ายก็ขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลได้มาตรวจสอบกลุ่มที่ร้องเรียนด้วยว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง หรือกลัวจะเสียผลประโยชน์หรือไม่ เพราะแกนนำกลุ่มคัดค้านหลายคนเป็นเจ้าของบ้านเช่า บางคนมีบ้านหลังใหญ่บางคนก็เป็นเจ้าของร้านอาหารในที่ดินริมคลองของกรมธนารักษ์ จึงไม่อยากจะทำบ้านมั่นคง เพราะถ้าทำแล้วทุกคนจะได้สิทธิ์ที่ดินเท่ากันคือ 1 หลัง” นายสมชาย กล่าวและว่า ข้อมูลดังกล่าวนี้เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แล้วเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับโครงการบ้านมั่นคงริมคลองในเขตกรุงเทพฯ นี้ พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นคลองสายหลักในปี 2558 - 2560 นี้ รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 45 กิโลเมตร ใช้งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาท ขณะที่มีบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 66 ชุมชน จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน ชาวบ้านจำนวน 58,838 คน จึงทำให้มีกลุ่มชาวบ้านและแกนนำที่ไม่อยากรื้อย้ายบ้านในเขตหลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และสายไหมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเป็นระยะ