อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เผยมีบุคคลบางกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ในโครงการบ้านมั่นคง โดยที่สมาชิกในชุมชนไม่เคยรู้เรื่อง อีกทั้งพบบางหลังเริ่มรุกล้ำแนวคลอง อีกด้านยังไล่รื้อบ้านเรือนทุกหลังให้ออกไปให้หมดแล้วค่อยกู้เงินสร้างกันขึ้นมาใหม่ ทำผลกระทบวงกว้าง เตรียมนำชาวบ้านหลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และจตุจักรนับพันเข้าร้องเรียนนายกรัฐมนตรี 1 ธ.ค. นี้
วันนี้ (16 พ.ย.) นายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายสังคม กล่าวถึงกรณีโครงการบ้านมั่นคง โครงการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนของรัฐบาลมาหลายสมัย ภายใต้การดำเนินการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจุดเริ่มต้นนั้นถือได้ว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นที่ยอมรับกันของชุมชนหลายๆ ชุมชนที่จะได้มีโอกาสพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในด้านที่อยู่อาศัย โดยเริ่มมาจากการใช้แนวทางการออมของสมาชิกในชุมชนผ่านการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อระดมสมาชิกภายในชุมชนมาถือหุ้นร่วมกัน และนำไปสู่การเช่าที่ดินของรัฐ หรือกรมธนารักษ์ ซึ่งงบดังกล่าวกลายเป็นช่องทางหากินกันของเหล่าคณะกรรมการชุมชนไปโดยปริยาย โดยมีการจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนขึ้นมา โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของสมาชิกในชุมชนและเป็นมติเห็นชอบแล้วของคณะกรรมการชุมชน แต่กลับมีสมาชิกในชุมชนในร้องเรียนกับตนว่าไม่เคยรู้เรื่องโครงการดังกล่าง และยืนยันว่าพวกคณะกรรมการชุมชนมทำกันเองทั้งสิ้น แล้วไปแอบอ้างว่าชาวบ้านสนับสนุนแล้ว
นายสิระกล่าวต่อว่า ในขณะนี้มีการอนุญาตให้ก่อสร้างบ้านตัวอย่างในโครงการบ้านมั่นคงในบางชุมชน ส่วนใหญ่เป็นกรรมการชุมชนทั้งสิ้น แต่กลับไปสร้างริมคลอง เสาบ้านยังรุกเข้าไปในน้ำแนวคลอง หรือบางชุมชนสถานที่ตั้งหรือพื้นที่ก่อสร้างสหกรณ์เคหสถานที่จะใช้เป็นสถานที่รวบรวมเงินของมวลสมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างบ้านมั่นคง กลับก่อสร้างคร่อมอยู่ในคลอง หรือมีเสาสำนักงานอยู่ในน้ำในคลอง รู้ทั้งรู้ว่าเป็นพื้นที่บุกรุก
“ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือความพยายามไล่รื้อบ้านเรือนทุกหลังให้ออกไปให้หมดแล้วค่อยกู้เงินสร้างกันขึ้นมาใหม่ โดยใช้เงินกู้หลังละ 1.5 แสนบาท โดยใช้แบบที่ทางราชการกำหนด ทั้งๆ ที่บ้านบางหลังเขาสร้างอาศัยในราคา 4-5 แสนบาทซึ่งมั่นคงดีอยู่แล้ว แต่ต้องมาถูกสั่งให้รื้อถอนแล้วกลับไปกู้เงิน 1.5 แสนบาทมาสร้างขึ้นใหม่ ให้ไปเป็นหนี้ใหม่ ชาวบ้านจึงได้รับผลกระทบในวงกว้าง ถ้าไม่เป็นหนี้ตามก็จะไม่มีที่อยู่” นายสิระกล่าว
นายสิระกล่าวต่อว่า ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตบางเขน และเขตจตุจักร กว่า 1,000 คน กำลังพยายามต่อสู้และเขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมาช่วยเหลือพวกเขา โดยเฉพาะการตรวจสอบคณะกรรมการสหกรณ์เคหสถานฯ นั้นๆ ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ทั้งนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นและมีประชาชนมาร้องเรียนให้ตนช่วยเหลือ ตนในฐานะอดีต สปช.ก็คาดหวังว่าจะเป็นสะพานเชื่อมที่จะสามารถบรรเทาปัญหาให้คลี่คลายไปในทางที่ดีได้
โดยในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ตนจะพาชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 1,000 คน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเวลา 10.00 น. ตนหวังว่าฝ่ายบริหารทั้ง 2 คนจะได้รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชนจากโครงการที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐบาล