xs
xsm
sm
md
lg

“แพร่” มีทุกอำเภอ! หัวคิวงบตำบลละ 5 ล้านหัก 25% หมู่บ้านละ 5 แสนต้องให้ซื้อวัสดุ(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ เมืองแพร่พบโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากส่งกลิ่นทุกอำเภอ สะพัดมีหักหัวคิวงบตำบลละ 5 ล้าน 25% ขึ้น ขณะที่งบหมู่บ้านละ 5 แสนบาทมีบีบให้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั้งที่ชาวบ้านไม่ต้องการด้วย เตรียมทำหนังสือถามผู้ว่าฯ ผ่าน กรอ.-ศูนย์ดำรงธรรม พร้อมรวบรวมข้อมูลส่ง ป.ป.ช.



วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดแพร่ที่ประกาศแต่งตั้งแล้วจำนวนกว่า 50 ตำบล ได้มีการประชุมกันเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดแพร่ ต.น้ำชำ อ.เมืองแพร่ โดยมีนายสมาน ผูกพัน สภาองค์กรชุมชน ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ ทำหน้าที่เป็นประธาน มีแกนประสานจาก 8 อำเภอเข้าร่วมจำนวน 15 คน

ที่ประชุมมีการหารือในเรื่องการบริหารจัดการสภาองค์กรชุมชนที่ได้รับการแต่งตั้ง และยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง, สวัสดิการชุมชน, โฉนดชุมชน, บ้านมั่นคง, โครงการเศรษฐกิจชุมชนระดับตำบลที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สนับสนุนในปีงบประมาณ2558 และปีงบประมาณ 2559 ซึ่งใช้เงินตำบลละ 100,000 บาท เพื่อทำการศึกษาระบบการประกอบอาชีพและฐานทรัพยากรที่เป็นฐานในการพัฒนาอาชีพของประชาชน

ในวาระอื่นๆ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือของรัฐที่กำลังลงมายังหมู่บ้าน 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตำบลละ 5,000,000 บาท และโครงการส่งเสริมอาชีพเสริมของเกษตรกรให้มีการรวมกลุ่มเสนอโครงการขอรับงบประมาณตามศักยภาพของกลุ่ม โดยมีงบประมาณลงไปยังหมู่บ้านละ 500,000 บาท

ปรากฏว่าผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนทั้ง 8 อำเภอพบเบาะแสของการทุจริตทั้ง 2 โครงการ โดยงบตำบลละ 5 ล้านบาทมีวิธีการไม่ให้ประชาชนได้รับทราบวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง ทำให้การทำโครงการของประชาชนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์จนนำไปสู่การแก้ไขโครงการ และนำไปสู่การรับเหมา โดยบริษัทที่เป็นเครือข่ายของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย

โดยมีการตั้งแกนนำเพื่อเรียกรับเงินจากงบตำบลละ 5 ล้านบาท ร้อยละ 25 ในจำนวนนี้ว่ากันว่าจะถูกหักไปที่ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านร้อยละ 3 ที่เหลือร้อยละ 22 เข้ามือข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนพบว่ามีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นในทุกอำเภอ

นายรณเกียรติ คำน้อย ผู้ใหญ่บ้านในอำเภอวังชิ้น กล่าวว่า โครงการหมู่บ้านละ 500,000 บาท เป็นโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจริงๆ โดยสนับสนุนให้ประชาชนตั้งกลุ่มเขียนโครงการเข้ามาขอรับงบประมาณ เน้นไปที่การฟื้นฟูอาชีพเกษตร เปลี่ยนแปลงเป็นพืชทางเลือกใช้น้ำน้อย แก้ปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึง ใช้เงินไม่มากกลุ่มละ 2-3 หมื่นบาท มีหลายกลุ่มที่พยายามเขียนโครงการที่ไม่มีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพราะมีวัสดุอุปกรณ์ดำเนินงานอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ให้มาปรับโครงการให้มีการจัดซื้อ และอำเภอจะเป็นผู้จัดซื้อให้

“สิ่งเหล่านี้คือกลวิธีการทุจริตที่เห็นอยู่เป็นประจำในทุกรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลปฏิรูปก็ยังทำกันอยู่ ชาวบ้านพร้อมให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจแก้ทุจริตของชาติ”

นางดารี มหาวัน ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนใน อ.ร้องกวาง จ.แพร่ กล่าวว่า โครงการที่รัฐดำเนินการอยู่เป็นโครงการที่ดีกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานในชุมชน ให้เม็ดเงินลงถึงประชาชนจริงๆ แต่พบว่าข้าราชการที่รับผิดชอบไม่ทำความเข้าใจอย่างแท้จริงเพราะมีเบื้องหลังการบริหารเงินดังกล่าว ความจริงแล้วควรที่จะมีการใช้หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน

พ.ต.ท.รวมศักดิ์ มีมาก ตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนตำบลหัวฝาย กล่าวว่า เม็ดเงินทั้ง 2 โครงการจะผ่านมาทางฝ่ายปกครอง มาถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นไม่ให้ใครเข้ามามีส่วนร่วมเขียน “เอาคนเดียว” มีกลุ่มที่จะขอเอี่ยวทุจริตด้วยขอส่วนแบ่ง คือ กลุ่ม อปท. แต่ก็ถูกกีดกัน ทั้งสองโครงการกำลังทำให้สังคมในชุมชนแตกแยกรุนแรงต่อไปถ้ารัฐบาลไม่คิดแก้ไข

นายอำนวย พลหล้า กรรมการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.แพร่ ที่เข้าร่วมประชุมด้วย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่เครือข่ายสภาเห็นพฤติกรรมของการปล่อยงบประมาณลงมายังประชาชน จากที่ประชุมพบว่ามีการดึงเงินกลับเข้ากระเป๋าถึงร้อยละ 25 หรือมากกว่านั้น จนหลายหมู่บ้านทำงานไม่ได้

แต่เรื่องนี้ถือเป็นบทบาทหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จะทำให้สังคมได้รับรู้ แต่ก็ต้องเป็นจังหวะที่เหมาะสมเพราะอาจเกิดข้อขัดแย้งและรวมหัวกันของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานแบบไม่โปร่งใสจัดการกับประชาชน ทางออกที่ดีจะทำอย่างไรนั้น ที่ประชุมมีมติ 3 ประการ คือ

1. ให้ทำแบบสอบถามไปยังทุกหมู่บ้านในจังหวัดแพร่ ถามข้อเท็จจริงนำมาประมวลเป็นหลักฐาน เสนอ ป.ป.ช.จังหวัดแพร่

2. ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน (กรอ.) เพื่อให้ภาครัฐ เอกชนเห็นปัญหาร่วมกัน

3. ทำหนังสือสอบถามพฤติกรรมของข้าราชการที่ดึงเงินกลับร้อยละ 25 จริงเท็จประการใดให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่

อนึ่ง ผู้แทนภาคประชาชน ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง ที่มีผู้แทนประชาชนไปนั่งในคณะกรรมการบริหารจังหวัดและการประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการ ขณะนี้ถูกตัดรายชื่อออกหมดแล้วจึงใช้ช่องทางนั้นไม่ได้ ทั้งหมดต้องฝากความหวังไว้ที่นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ที่ประกาศนโยบายชัดเจนในการสร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในการบริหารงานจังหวัดแพร่

กำลังโหลดความคิดเห็น