xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.พอช.แจงกรณีร้องเรียนบ้านมั่นคงไม่โปร่งใส แฉกลุ่มการเมืองจ้องป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลากร วงศ์กองแก้ว ผอ.พอช.
ผอ.พอช. ชี้แจงกรณีร้องเรียนบ้านมั่นคงไม่โปร่งใส แฉ กลุ่มผู้ร้องเรียนเป็นกลุ่มการเมือง - เจ้าของบ้านเช่า - ร้านอาหาร ที่ไม่อยากรื้อบ้านพ้นคลอง ยืนยันชุมชนมีหลายทางเลือก ไม่ได้มีการบังคับให้ชาวบ้านเป็นหนี้

วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช.ได้จัดทำเอกสารชี้แจงต่อสื่อมวลชน กรณี นายสิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง (สปช.) ในฐานะประธานเครือข่ายสิทธิชุมชนคนริมคลอง ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและหน่วยราชการต่าง ๆ กล่าวหาว่าการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงไม่โปร่งใส มีการทุจริตในโครงการนั้น พอช. จึงขอชี้แจงข้อมูลตามความเป็นจริง ดังนี้

ประเด็นแรก ข้อกล่าวหาว่าโครงการบ้านมั่นคงบังคับให้ชุมชนริมคลองที่ลงทุนในการสร้างบ้านของตนเองซึ่งมีลักษณะบ้านที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เข้าร่วมโครงการโดยต้องรื้อบ้านเดิมทั้งหมด และบังคับให้ใช้สินเชื่อในการสร้างบ้านรายละ 100,000 - 200,000 บาทนั้น ความจริงก็คือ โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองที่กำลังเริ่มดำเนินการนี้ สืบเนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายการจัดการน้ำ ด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่คลองหลัก คือ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร โดนสำนักการระบายน้ำ กทม. รับผิดชอบเรื่องการก่อสร้างเขื่อน

พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการรองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน โดยชุมชนสามารถเลือกได้ว่าจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่เดิมโดยปรับผังชุมชนใหม่ จะรวมตัวกันไปซื้อที่ดิน สร้างบ้านในที่ใหม่ที่เป็นการดำเนินการโดยกลุ่ม/สหกรณ์ทำร่วมกันเป็นชุมชนก็อยู่ในแนวทางโครงการบ้านมั่นคงที่สนับสนุนได้ ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์จะทำโดยการรวมกลุ่มในแนวทางดังกล่าวก็สามารถเลือกแนวทางไปเช่าซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทร การเคหะแห่งชาติ หรือโครงการที่อยู่อาศัยเอกชนก็ได้ พอช. ไม่ได้มีการบังคับให้ชาวบ้านเป็นหนี้แต่อย่างใด

“พอช. ได้เสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 80,000 บาท ไม่ว่าชาวชุมชนจะเลือกแนวทางไหนจาก 4 แนวทาง แต่ยังอยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ที่รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเร็ว ๆ นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป” ผอ.พอช. กล่าว

ประเด็นที่สอง การให้ข่าวว่ามีการทุจริตในการทำโครงการบ้านมั่นคง เปิดช่องทางให้กรรมการสหกรณ์โกงและการดำเนินงานของ พอช. ไม่โปร่งใส นั้น เรื่องนี้ พอช. ได้ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันได้สนับสนุนการทำโครงการบ้านมั่นคงครอบคลุม 76 จังหวัด 356 เมือง/เขต 1,229 โครงการ 1,884 ชุมชน 97,976 ครัวเรือน อนุมัติงบสนับสนุน รวม 6,524 ล้านบาท สินเชื่อสหกณ์เคหสถาน/กลุ่มออมทรัพย์ รวม 5,884 ล้านบาท กลไกการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการจะผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลายฝ่าย

กรณีสหกรณ์ชุมชนก้าวหน้าและกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนก้าวหน้าที่ปรากฏในข่าวนั้น พอช. ได้ตรวจสอบพบว่า ประธานสหกรณ์ได้นำเงินสนับสนุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนหนึ่งนำมาชำระสินเชื่อสถาบัน จ่ายค่าเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ ให้สมาชิกกู้ปลูกบ้าน และก่อสร้างทางเดินที่มูลค่าสูงกว่าปกติ วงเงินที่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์รวม 2.96 ล้านบาท หลังจากนั้น จึงได้นำข้อมูลมาเสนอในที่ประชุมร่วมของสมาชิกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำนักงานเขตหลักสี่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ซึ่งประธานสหกรณ์ได้เซ็นรับสภาพในสัญญาต่อหน้าผู้เข้าร่วมและลงนามพยานในเอกสาร 10 กว่าคนว่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาส่งคืนสถาบัน ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2558 เมื่อครบกำหนดแล้วสถาบันยังไม่ได้รับเงินคืน จึงได้ทำหนังสือแจ้งเตือนในส่งคืนภายใน 15 วัน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา หากไม่นำส่งคืนจะดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ก็ได้เตรียมข้อมูลหลักฐานเพื่อส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้อง

ประเด็นที่สาม เรื่องสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนนำเงินโครงการบ้านมั่นคงมาบริหารเอาดอกเบี้ย ไม่เร่งจ่ายเงินให้ชุมชน จ่ายไม่ครบ ซึ่งตัวเลขงบประมาณบ้านมั่นคงที่ข่าวกล่าวถึงนั้นไม่ชัดว่าเป็นข้อมูลจากไหน พอช. รับงบประมาณสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นเงินรวม 6,515 ล้านบาท เบิกจ่ายสนับสนุนชุมชนไปแล้ว 5,260 ล้านบาท ยังมีเงินคงเหลือเบิกจ่ายตามงวดงานโครงการบ้านมั่นคงที่อนุมัติไปแล้ว 1,255 ล้านบาท ซึ่งการเบิกจ่ายจะต้องมีการตรวจรับผลการดำเนินงานรายงวดตามแผนการดำเนินงานของสหกรณ์ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาที่มีการเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากบางโครงการมีปัญหาข้อติดขัดเรื่องที่ดิน โดยเฉพาะโครงการที่ใช้ที่ดินรัฐ ทำให้บางโครงการต้องยกเลิกโครงการและนำเงินดังกล่าวมาอนุมัติให้กลุ่มใหม่ที่มีความพร้อมต่อไป

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แจ้งว่า ทางศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้ทำรายงานเบื้องต้นกรณีข่าวการทุจริตในโครงการบ้านมั่นคงถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. พบว่า กลุ่มผู้ร้องเรียนประกอบด้วย กลุ่มการเมือง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ กลุ่มบ้านเช่า กลุ่มบ้านใหญ่ที่ไม่อยากรื้อย้าย และกลุ่มร้านอาหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น