ร่วมแก้ปัญหา “ยากำพร้าต้านพิษ” ช่วย ปชช. เข้าถึงยา ลดภาวะพิการ - ตาย เผย สถานเสาวภาผลิตเซรุ่มแก้พิษงู สปสช. หนุนงบ อภ. ช่วยบริหารจัดการ ช่วยชาติประหยัดเงิน 200 ล้านบาทต่อปี
วันนี้ (4 ก.พ.) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ยากำพร้า คือ ยาที่มีอัตราการใช้น้อยแต่มีความจำเป็น จึงทำให้มีผู้ผลิตยาน้อยราย ส่งผลให้เกิดการเข้าไม่ถึงยารักษา อาทิ เซรุ่มรักษาพิษงู ยารักษาพิษจากสารตะกั่ว สารหนู ไซยาไนด์ ยารักษาภาวะเม็ดเลือดแดงลดความสามารถในการส่งออกซิเจน จากการที่มีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เป็นต้น ยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะถ้าผู้ป่วยได้รับยาอย่างทันท่วงทีจะสามารถหายขาดจากโรคได้ แต่หากไม่ได้รับยาก็จะทำให้ร่างกายเสียการทำงาน พิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิต จึงต้องมีความร่วมมือในการบริหารจัดการยากำพร้าให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้
“อย่าง “เซรุ่มแก้พิษงู” ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานเสาวภาเป็นหน่วยงานผลิตปีละประมาณ 8 หมื่นขวด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณ ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี สนับสนุนความรู้ ส่วน อภ. ทำหน้าที่จัดหายาต้านพิษทั้งที่ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศเข้ามาและบริหารจัดการ เบื้องต้นมีการสำรองไว้ใช้ประมาณปีละ 50 - 60 ล้านบาทต่อปี แม้จะไม่มากแต่ก็ลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่หากไม่มีการบริหารจัดการจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี หรืออย่างยารักษาอาการจากพิษโบทูลินัมราคาสูงถึงโดสละ 400,000 บาท โรงพยาบาลสำรองเองอาจจะมีความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังมากกว่า ดังนั้น อภ.จึงทำหน้าที่ในการบริหารจัดการตรงนี้ และบางตัวจะมีการสำรองไว้ที่โรงพยาบาล บางตัวสำรองไว้ที่คลังอภ.ตามภูมิภาคซึ่งยืนยันว่าสามารถจัดส่งยาเหล่านี้ให้ถึงมือผู้ป่วยได้ภายใน 24 ชั่วโมงแน่นอน” นพ.นพพร กล่าว
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากยากำพร้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านพิษจึงต้องมีการสำรองและจัดระบบบริหารจัดการยาที่ดี โดยมี อภ. เป็นผู้ดำเนินการ จนสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้อย่างมาก ล่าสุด มีการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 17 รายการ โดยหลักการกระจายยาคือเมื่อไรก็ตามที่มีผู้ป่วยได้รับอันตรายจากพิษสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทางอินเทอร์เน็ต หากไม่ทราบก็ประสานมาที่ศูนย์พิษวิทยาของโรงพยาบาลรามาฯ หรือโรงพยาบาลศิริราช เมื่อทราบชนิดของพิษและยาต้านพิษแล้ว หากมียาในโรงพยาบาลของตัวเองก็สามารถสั่งจ่ายได้เลย ถ้าไม่มีก็สามารถขอรับยาได้ที่โรงพยาบาลเครือข่ายที่ใกล้ที่สุดได้ โดยสามารถสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาได้เลย โดยมี สปสช. ทำหน้าที่เป็นเคลียริงเฮาส์ นอกจากนี้ ปัจจุบันมีประเทศใกล้เคียงขอรับสารต้านพิษมาที่ประเทศไทยด้วย อาทิ ลาว พม่า และ อินเดีย และไทยถือเป็นผู้ผลิตยาต้านพิษรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นพ.วินัย วนานุกูล ผอ.ศูนย์พิษวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ 5 ปีที่ผ่านมา พยายามทำให้ประเทศมียาในกลุ่มที่ไม่ค่อยจะมีใช้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะถาวร แต่ถ้าได้รับยาต้านพิษอย่างทันท่วงทีก็สามารถรักษาชีวิตได้ ล่าสุดในปี 2558 มีการขอรับคำปรึกษามายังศูนย์มากกว่า 20,000 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 19,500 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านพิษมีอัตราการรอดชีวิตร้อยละ 95 และร้อยละ 90 ของผู้รอดชีวิตสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่