xs
xsm
sm
md
lg

ชงตั้งบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วย ปชช.รับบริการดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
นักวิชาการชี้ สร้างความยั่งยืนระบบหลักประกันสุขภาพ รบ. ต้องแก้การรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน เสนอแนวทางร่วมจ่ายสิทธิประโยชน์เสริม เป็นทางเลือกเพิ่มเติม จัดตั้งบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยประชาชนได้รับบริการดีขึ้น

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายในงานประชุมวิชาการ “ประชารัฐร่วมรับผิดชอบระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” จัดโดยสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ชมรมสายใยความหวังผู้ป่วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสคร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ว่า การทำให้ระบบสาธารณสุขของชาติยั่งยืนนั่น ทุกฝ่ายควรทำตรงตามหน้าที่ โดย สปสช. ควรทำหน้าที่เฉพาะการประกันค่าใช้จ่ายในการรักษา ส่วน สธ. และ รพ. เป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษาโรค จัดหายาและการตรวจวินิจฉัย เอง ส่วนการร่วมจ่ายหรือร่วมประกันนั้นควรทำให้ระบบได้เงินหลายทาง ปรับพฤติกรรมสุขภาพ และใช้วิธีที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนนั้น

รศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากให้มีการร่วมจ่าย ตนมองว่า อาจเป็นการร่วมจ่ายระหว่างผู้ใช้บริการและรัฐบาลสำหรับสิทธิประโยชน์เสริม เพื่อทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การร่วมจ่ายทำได้ทั้งการร่วมจ่ายล่วงหน้าและร่วมจ่ายที่เหมาะสมเมื่อเข้ารับการรักษา

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ขอเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นสิทธิประโยชน์ส่วนเพิ่ม เช่น ตอนนี้ปีหนึ่ง งบบัตรทองจ่ายอยู่ที่ 3,000 บาทต่อปี ถ้าจ่ายเพิ่มขึ้นอีกวันละแค่ 10 บาท ก็จะได้ประกันเทียบเท่ากับประกันสุขภาพกลุ่มของภาคเอกชนที่สามารถบริหารได้ ประชาชนได้สิ่งที่ดีขึ้น เช่น ใช้สิทธินอกเวลาในโรงพยาบาลรัฐ หรือการใช้ยานอกบัญชียาหลัก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน

พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ควรมีการปฏิรูปกฏหมายเพื่อให้การดำเนินงานด้านประกันสุขภาพอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อการกำกับดูแลด้วยกลไกการตรวจสอบที่โปร่งใสป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณ และควรจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งบรรษัทประกันสุขภาพ และขยายขอบเขตการ นำประชากรวัยแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น