xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาพบ รพ.ขอนแก่น ผู้ป่วยในขาดทุน ส่วนบัตรทองขาดทุนสูงสุด เล็งเสนอ สปสช.ปรับ DRG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รพ.ขอนแก่น ศึกษาต้นทุนต่อหน่วยบริการ พบ​ผู้ป่วยในขาดทุน ค่าบริการต่อครั้งเฉลี่ย 2.5 หมื่นบาท ต้นทุนพุ่งที่ 2.7 หมื่นบาท ชี้ส่วนของบัตรทองขาดทุนมากที่สุด เล็งเสนอ สปสช. คิดเกณฑ์ DRG สอดคล้องความเป็นจริง

นายสุริยา อุดมบัว นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ รพ.ขอนแก่น นำเสนอผลการศึกษา ​​เรื่อง “การศึกษาต้นทุนต่อหน่วยบริการ” ​ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558 ว่า ได้ทำการศึกษาต้นทุนต่อหน่วยบริการ ของ รพ.ขอนแก่น ในปี 2557 เพื่อนำไปวิเคราะห์ต้นทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการวางแผนในการดำเนินนโยบายของโรงพยาบาล โดยได้ศึกษาค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในการดำเนินงานให้บริการทุกหน่วยทั้งทางตรง ทางอ้อม และต้นทุนการให้บริการ เพื่อหาต้นทุนที่แท้จริง ด้วยโปรแกรมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือการแบ่งหน่วยต้นทุนภายในโรงพยาบาล ซึ่งการกำหนดหน่วยต้นทุนนี้ใช้เวลาทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเมื่อกำหนดต้นทุนแต่ละหน่วยได้ก็นำมาคำนวนโดยโปรแกรมได้ง่ายขึ้น

นายสุริยา กล่าวว่า สำหรับการวิจัยสามารถแบ่งหน่วยต้นทุนได้ 160 หน่วยต้นทุน ประกอบด้วย ต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ต้นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ ต้นทุนที่ให้บริการผู้ป่วยโดยตรงและต้นทุนที่ให้บริการอื่น ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนค่าแรง คิดเป็นต้นทุนค่าแรงร้อยละ 47.48 ต้นทุนค่าวัสดุ ร้อยละ 46.57 และต้นทุนค่าลงทุน ร้อยละ 5.95 ของค่าใช้จ่ายปีงบประมาณ 2557 จำนวน 2 พันล้านบาท โดยพบว่าหน่วยที่มีต้นทุนสูงสุด ได้แก่ ห้องผ่าตัด องค์กรแพทย์ อุบัติเหตุฉุกเฉิน วิสัญญีพยาบาล และศูนย์บริการเครื่องช่วยหายใจ ตามลำดับ และพบว่า ค่าบริการเฉลี่ยผู้ป่วยนอกต่อครั้งอยู่ที่ 949.80 บาท ต้นทุนเฉลี่ย 752.75 บาท ผู้ป่วยในค่าบริการต่อครั้ง เฉลี่ย 25,204.86 บาท ต้นทุนเฉลี่ย 27,234.14 บาท ผู้ป่วยในต่อวันนอนค่าบริการเฉลี่ย 4,920.18 บาท ต้นทุนเฉลี่ย 5,332.87 บาท

นายสุริยา กล่าวว่า จากการคำนวน​ยังได้แยกต้นทุนของทุกสิทธิออกมาด้วย โดยพบว่าสิทธิในส่วนของหลักประกันสุขภาพ ยังถือเป็นส่วนที่ขาดทุนมากที่สุด ซึ่งการมีข้อมูลจะนำไปสู่การเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการคิดเกณฑ์​กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง​ ทั้งนี้ การคำนวนดังกล่าวจะทำให้สถานพยาบาลได้ทราบต้นทุนที่แท้จริงเพื่อการวางแผนการทำงานได้สอดคล้องความเป็นจริง ซึ่งควรมีระบบการจัดเก็บข้อมูล ระบบการทำงาน โดยการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังควรมีการเปรียบเทียบข้อมูลในระดับขนาดโรงพยาบาล เพื่อให้จัดสรรค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุนการให้บริการ ​วางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ จัดทำแผนป้องกันควบคุมความเสี่ยงด้านการเงินการคลัง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น