แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์
เป็นความจริงที่น่าเศร้ายิ่งว่าประชาชนชาวไทยถูกแย่งเงินทุนค่ารักษาพยาบาลอย่างเลือดเย็นมาจ่ายเป็นโบนัสให้บุคลากรของ สปสช. มาโดยตลอด
สปสช. บริหารงานโดยหักค่าหัวคิดและมีเงินค้างท่อตามกองทุนต่างๆ และทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนเงินทุนและทรัพยากรมากมาย โรงพยาบาลติดหนี้ค่ายาบริษัทยาจากโครงการบัตรทอง โรงพยาบาลไม่มีเงินเหลือจ่ายเงินบุคลากรเพราะนำไปใช้ซื้อยารักษาประชาชนตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สปสช. ใช้วิธีบีบเงินค่ารักษาพยาบาลในราคาถูกมากกับโรงพยาบาล ซึ่งเรียกว่า Capitation เพียงสามพันกว่าบาทต่อปี และพยายามกระตุ้นให้ประชาชนไปใช้บริการให้มากที่สุด (ซึ่งผิดหลักการสากลโลก ที่ต้องให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย) พยายามให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแต่ปราศจากคุณภาพ เป็นการสังเวยชีวิตประชาชนให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยปราศจากทรัพยากรและคุณภาพที่เพียงพอ
ดูจากสถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ศึกษามาก็ชี้ชัดเช่นนั้น โรงพยาบาลทุกแห่งของรัฐก็พยายามรักษาประชาชนให้ดีที่สุดตามที่กำลังความสามารถจะมีหลายแห่งขาดทุนและขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือผู้บริหารเงินอย่าง สปสช. มีเงินเหลือมากมาย แต่กลับไม่นำเงินเหล่านั้นให้กับสถานพยาบาลผู้มีหน้าที่รักษาประชาชนโดยตรง
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 สปสช. ได้ทำหนังสือที่ สปสช.4.03/03977 หารือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่าสามารถนำงบประมาณส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำนักงานที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 มาจ่ายเป็นค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ประจำปี ตามผลการปฏิบัติงานของพนักงาน สปสช. โดยอาศัยระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2556 หรือพูดง่ายๆ สปสช. มีเงินเหลือจากการหักค่าหัวคิวงบบัตรทอง และเหลือจนมากพอที่จะเอามาจ่ายโบนัสพนักงานใน สปสช. เอง เนื่องจาก สปสช. เป็นองค์การอิสระตั้งโดยมีพระราชบัญญัติแยกเป็นของตนเองเป็นเอกเทศจึงออกระเบียบการเงินตามอำเภอใจได้
ที่น่าเสียใจคือเงินเหลือที่จะนำไปเข้าเป็นเงินอุดหนุนนี้ แทนที่จะได้นำไปซื้อยาหรือใช้รักษาพี่น้องประชาชน สปสช. กลับนำมาใช้แจกโบนัสกันเอง ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไร้สำนึก เงินเดือนพนักงานและผู้บริหาร สปสช. นั้นมากกว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะเบี้ยประชุมกรรมการ บอร์ด สปสช. เองก็ครั้งละหนึ่งหมื่นแปดพันบาท เงินเดือนเลขาธิการ สปสช. นั้นก็มากกว่านายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ สปสช. มีอำนาจในการจัดซื้อได้ทันทีในวงเงินหนึ่งพันล้านบาทมากกว่านายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ สปสช. ยังซื้อยาโดยได้เงิน rebate คืนจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำเงินดังกล่าวมาเป็นเงินสวัสดิการพนักงานและผู้บริหาร แทนที่จะนำเงินดังกล่าวมาเป็นเงินรักษาพยาบาลประชาชน ทางกฏหมายต้องถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ต้องจัดการให้เด็ดขาด และ คตร. ได้ตัดสินว่าผิดกฎหมายไปแล้วนั้นก็ยังไม่ได้มีการคืนเงินเป็นของแผ่นดินแต่อย่างใด
ประเด็นที่ สปสช. ทำหนังสือเข้าหารือกับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ทำให้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ ตผ 0038/7788 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558 วินิจฉัยว่าสปสช ไม่มีสิทธินำเงินดังกล่าวที่เหลือไปเป็นหมวดเงินอุดหนุนเพื่อแจกจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเอง ทั้งนี้เป็นการกระทำที่ขัดกับมติคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/12852 ลงวันที่ 8 กันยายน 2547 ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายบุคลากรทุกประเภทต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุน หากองค์การมหาชนใดไม่สามารถปฏิบัติได้ให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้สตง ได้อาศัยแนวทางปฏิบัติเดียวกันกับที่เคยวินิจฉัยห้ามสถาบันบริการกองทุนพลังงาน ซึ่งเป็นองค์การมหาชน มิให้นำเงินงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงานไปจ่ายเป็นเงินรางวัลประจำปีให้แก่เจ้าหน้าที่ เนื่องจากองค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องใช้เงินอุดหนุนเป็นหลักในการดำเนินงานตามภารกิจและตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ. องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติให้การใช้จ่ายเงินขององค์การมหาชนเป็นไปเพื่อกิจการขององค์การมหาชนโดยเฉพาะ
ทาง สตง ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า สปสช. ใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านบุคลากรเกินกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณอุดหนุนที่ได้รับจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2557 จึงถือว่าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0504/12852 ลงวันที่ 8 กันยายน 2547 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้จะไม่มีการจ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน สปสช. เพิ่มแม้แต่บาทเดียวก็ตาม
ทั้งนี้ สปสช. ต้องส่งเงินที่เหลือคืนกระทรวงการคลัง ตามหนังสือ กค0409.6/ว.126 ลงวันที่ 7 กันยายน 2548 ให้ส่งคืนคลังถือว่าเป็นรายได้แผ่นดิน
สตง. ยังได้ขอให้ สปสช. พิจารณาตนเอง เพื่อทบทวนแก้ไขระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2556 ให้สอดคล้องกับมติ ครม. ระเบียบ กพร. และหนังสือสั่งการของกระทรวงการคลังด้วย
ผู้เขียนขอให้กำลังใจ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง รักษาวินัยทางการคลัง และทำหน้าที่ปกป้องเงินแผ่นดิน
ทั้งนี้มีคำถามหลายประเด็นที่ผู้เขียนต้องการให้ สปสช. ตอบ ดังนี้
1. สปสช. หักเงินสำหรับใช้จ่ายในสำนักงานไว้มากเกินไปหรือไม่จนทำให้เงินเหลือ และการบริหารเงินไม่มีประสิทธิภาพ
2. การมีเงินเหลือและเอามาจ่ายโบนัสได้ ในขณะที่โรงพยาบาลขาดทุนกันถ้วนหน้า และประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ขาดคุณภาพเพราะขาดแคลนทรัพยากรเนื่องจาก สปสช. จัดสรรทรัพยากรอย่างเห็นแก่ตัวนั้น ประชาชนจะเรียกร้องเงินเหล่านั้นได้จาก สปสช. หรือไม่?
3. เมื่อไหร่ สปสช. จะส่งเงิน rebate ค่ายาที่เข้ากองทุนสวัสดิการของพนักงาน สปสช. คืนเป็นเงินของแผ่นดิน?
4. เมื่อไหร่ สปสช. จะคืนเงินโบนัสที่เคยให้กับพนักงานของตนในปีก่อนๆ อันเป็นลาภมิควรได้และผิดกฎหมายด้วยเข้าคลังแผ่นดิน?
5. สปสช ไม่มีความละอายต่อการกระทำของตนเองหรือที่ได้ผลตอบแทนอันดียิ่งบนความเดือดร้อนของประชาชนและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์และสาธารณสุขเลยหรือ?