xs
xsm
sm
md
lg

แจงโบนัส สปสช.คนละส่วนงบเหมาจ่ายรายหัว “บัตรทอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. แจงเงินจ่ายโบนัสพนักงาน งบคนละส่วนกับงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ระบุ บอร์ด สปสช. มีมติให้มีโบนัสเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน และต้องทำงานถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ เล็งดำเนินการทางกฎหมายกับคนให้ข้อมูลเท็จ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีข่าว สปสช. เอาเงินกองทุนบัตรทองเพื่อประชาชนไปใช้เป็นค่าตอบแทนตามภาระงาน (โบนัส) ทำให้โรงพยาบาลต้องขาดทุน ว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จ สร้างความเสียหาย ทำให้ สปสช. ต้องขอความเป็นธรรมกับกระบวนการยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ ข้อเท็จจริง คือ สปสช. มีงบประมาณแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.งบบริหารสำนักงาน 2.งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเงินเดือนเจ้าหน้าที่ สปสช.ก็เหมือนเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์กรของรัฐทั่วไปอยู่ในงบบริหาร มิได้อยู่ในงบกองทุน (เหมาจ่ายรายหัว) และงบบริหารสำนักงานของ สปสช.แต่ละปีต้องผ่านการคำนวณรายละเอียดจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนเข้าสู่การบริหารงบประมาณโดยรัฐบาลเหมือนงบประมาณของกระทรวงอื่นๆ ซึ่งสัดส่วนงบบริหารสำนักงานต่องบกองทุนนั้นอยู่ที่ 0.88% ของงบกองทุนฯ ซึ่งงบบริหารเป็นงบที่ใช้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์การทำงานของ สปสช.เพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า เนื่องจาก สปสช. เป็นหน่วยงานของรัฐแบบใหม่ ที่ทำงานมุ่งเน้นนโยบายของรัฐด้านสังคมแบบใหม่ให้เกิดผล เจ้าหน้าที่นอกจากจะมีเงินเดือนแล้ว จะมีค่าตอบแทนพิเศษตามผลการปฏิบัติในแต่ละปี โดยไม่ได้รับเงินอื่น ๆ เพิ่มอีก เช่นเงินประจำตำแหน่ง หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับครอบครัวเหมือนที่ข้าราชการทั่วไปได้รับ ในหลักการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ส่วนสำคัญคือ การมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม และสวัสดิการเพื่อจูงใจบุคคลที่มีความรู้ความสามารถให้เข้ามาทำงาน การมีค่าตอบแทนพิเศษตามผลการดำเนินงานเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ปฏิบัติได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน รวมถึงกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณด้วย เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้จึงได้กำหนดว่าหากสามารถทำงานได้ตามเป้าหมายจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ที่ผ่านมา สปสช. ผ่านการประเมินการทำงานและได้รับรางวัลด้านประสิทธิภาพการทำงานมากมาย เช่น ได้รับรางวัลด้านการบริหารกองทุนหมุนเวียนดีเด่น (ต่อเนื่อง 7 ปี) ด้วยผลการประเมินคะแนนสูงสุดจาก ก.พ.ร. เป็นต้น

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในส่วนประเด็นเรื่องงบบริหารบุคคลที่เกิน 30% ของงบบริหารทั้งหมดนั้น สปสช. ขออนุญาตไปที่ ก.พ.ร. ทุกปีตามมติ ครม. แล้ว และมติบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 59 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษตามที่ สตง. ระบุ และมอบให้ สปสช. ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวก่อน จึงจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ

                “การโยงเรื่อง รพ. ขาดทุนเข้ากับโบนัสเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัว และเป็นการให้ข้อมูลเท็จเสี้ยมให้เกิดการทะเลาะกัน ทำให้สังคมเข้าใจผิด เช่นเดียวกับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐขององค์การเภสัชกรรมที่กล่าวหาว่า สปสช. เอามาใช้จ่าย ก็ให้ข้อมูลเท็จแก่สังคมซ้ำแล้วซ้ำอีก เงินในส่วนนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้งนี้ สปสช. ใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการตามมติบอร์ด สปสช. และตามข้อเสนอของ สตง. และขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาการโจมตีให้ร้ายแบบไม่มีข้อมูลจริง จึงให้ อภ. นำกลับไปดูแลแทน” โฆษก สปสช. กล่าวและว่า สำหรับกรณีที่มีบุคคลให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณะโดยมีเจตนาบิดเบือนทำให้ สปสช. เสียหาย สปสช. จะได้พิจารณาดำเนินการใช้สิทธิทางกฎหมายต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น