พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมกรแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กมธ.สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมกรแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กมธ.สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ข่าว สปสช. แจกโบนัสพนักงานทุกปี แต่ สปสช.บริหารกองทุนจนผู้รับผลงานของสปสช.คือโรงพยาบาลขาดทุนทุกปี แล้วก.พ.ร.ประเมินว่าสปสช.บริหารกองทุนดีเด่นจริงหรือ? นี่คือคำถามที่ประชาชนน่าจะให้ความสนใจ เพราะสปสช.รับหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวงเงินปีละไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท และใช้งบบริหารสำนักงานได้สูงสุด 1 % ของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้บทความ โรงพยาบาลล้วนอัตคัตยากแค้นแสนสาหัส แต่ สปสช. จะจ่ายโบนัส? ของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ รองผู้อำนวยการ รพ.สุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า สปสช. บริหารงานโดยหักค่าหัวคิวและมีเงินค้างท่อตามกองทุนย่อยต่างๆ ของ สปสช. ทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนเงินทุนและทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลติดหนี้ค่ายา ไม่มีเงินจ่ายค่ายาให้บริษัทยา โรงพยาบาลไม่มีเงินเหลือจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ต้องทำงานให้บริการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงใน 366 วัน แต่ สปสช. มีหนังสือไปยังสตง.ขอหารือว่าจะจ่ายโบนัสให้พนักงาน และทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือตอบไปว่า สปสช.ไม่มีสิทธินำเงินจากค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน ไปเป็นหมวดเงินอุดหนุนเพื่อแจกจ่ายให้แก่พนักงานของตนได้ เนื่องจากสปสช.ใช้งบประมาณบุคลากรเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ของเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นการขัดกับมติของรัฐมนตรีที่ นร 0504/12852 ลงวันที่ 8 กันยายน 2547 แล้ว แม้จะไม่มีการจ่ายเงินโบนัสแม้แต่บาทเดียว พูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าสปสช.จ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของงบบริหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับมติครม. แล้วยังจะมาขอจ่ายเงินเป็นโบนัสเพิ่มเติมอีกหรือ? แสดงว่านอกจากสปสช.จะจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสูงมากแล้ว สปสช. ยังใช้เงินในการบริหารกิจการงานน้อยแต่จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรมาก
ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะลงโทษผู้บริหารสปสช.อย่างไรหรือไม่? ถ้าไม่ดำเนินการอะไรอาจจะถูกพิจารณาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ)
ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงสมควรจะต้องทบทวน/แก้ไขการใช้เงินในการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรของสปสช.อย่าให้สูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของงบบริหาร โดยการพิจารณาลดจำนวนบุคลากร เพื่อลดขนาดองค์กร (Downsizing) ลง จ้างบุคลากรให้มีจำนวนน้อยลง และลดเงินเดือนบุคลากรลงไปอีก ไม่ใช่เพิ่มโบนัส
ในขณะที่ รพ.ขาดเงินทุนในการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย บุคลากรทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมงตลอดปี แต่รพ.ไม่มีเงินค่าล่วงเวลามาจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร แต่ สปสช. มีเงินจ้างพวกเดียวกันมาเป็นเจ้าหน้าที่ สปสช. ด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงลิ่ว สูงกว่าที่ ครม. กำหนด ในขณะที่บุคลากรเหล่านี้ทำงานแบบเสมียนธุรการเป็นคนจ่ายเงินเท่านั้นไม่ได้ใช้ความรู้ทักษะความสามารถที่เป็นวิชาชีพโดยเฉพาะแบบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว แล้วยังจะมาขอโบนัสอีก?
ต่อมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสปสช. ได้ออกมาแถลงว่า งบจ่ายโบนัสพนักงานเป็นงบคนละส่วนกับงบบัตรทอง (http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000010714) และกล่าวว่าคนที่ให้ข้อมูลว่าเอางบประมาณกองทุนไปจ่ายโบนัส เป็นการให้ข้อมูลเท็จ และเล็งที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ให้ข้อมูล ผู้เขียนก็เลยกลับไปอ่านข้อเขียนของพญ.ประชุมพรฯ อีกครั้ง ก็ไม่เห็นว่าเธอจะให้ข้อมูลเท็จแต่อย่างใด เพราะเธอบอกว่าในขณะที่ สปสช.บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลที่ต้องรับผลงาน (การบริหารจากสปสช.) จนทำให้ รพ.ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำงาน ขาดเงินซื้อยามารักษาผู้ป่วยจนติดหนี้บริษัทยา โรงพยาบาลไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนล่วงเวลาแก่บุคลากรที่ต้องทำงานหนักในการดูแลรักษาประชาชนในระบบ 30 บาท
กล่าวคือ สปสช.บริหารกองทุนล้มเหลว แม้แต่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ก็กล่าวว่า สปสช.มีเงินค้างท่อ ส่งผลให้ รพ. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ย้ำงบสาธารณสุขมีปัญหา บีบ สปสช. ปล่อยเงินค้างท่อ 17,000 ล้าน อุ้ม รพ. ขาดสภาพคล่อง แต่ สปสช.จะขอจ่ายโบนัสแก่เจ้าหน้าที่ (ที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างเลว จนโรงพยาบาลขาดทุนถ้วนหน้า)
ทพ.อรรถพรฯ ก็ยังอ้างอีกว่าก.พ.ร.ประเมินว่าสปสช.บริหารกองทุนดีเด่นจนได้รับรางวัล 7 ปีซ้อน ซึ่งผู้เขียนบทความนี้มีความเห็นว่า ถ้าสิ่งที่ ทพ.อรรถพรฯพูดเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนเห็นว่า ก.พ.ร.อาจประเมินไม่รอบด้านหรือฟังความข้างเดียวจากสปสช. โดยไม่ประเมินจากผู้รับผลงานของสปสช. (คือโรงพยาบาลต่างๆด้วย)
ทพ.อรรถพรฯยังกล่าวอีกว่า เรื่องเงินโบนัสและเรื่องรพ.ขาดทุนเป็นคนละเรื่อง ไม่ควรเอามาโยงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ผู้เขียนเรื่องนี้เห็นว่า มันเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแน่นอนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้า สปสช.เป็นรัฐบาลที่บริหารงบประมาณแผ่นดิน แต่ทำให้ประชาชนอัตคัดขัดสน ไม่มีเงินพอใช้จ่ายในครัวเรือน ขอถามว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการให้โบนัสรัฐบาลหรือไม่ หรือควรเปิดอภิปรายขับไล่รัฐบาลนี้ออกจากตำแหน่งทันที ถ้าท่านเป็นประชาชนที่ได้รับผลงานการบริหารเช่นนี้ ท่านอยากจะจ่ายโบนัสให้รัฐบาลหรืออยากจะไล่รัฐบาลออกจากอำนาจบริหารงาน?
เช่นเดียวกับการบริหารงานของ สปสช. โดยมิพักต้องกล่าวว่างบบริหารสำนักงานกับงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นคนละส่วนกัน บริหารแบบนี้ยังอยากจะได้โบนัสโดยไม่แก้ปัญหาให้ รพ. ขอถามวิญญูชนว่า ควรให้โบนัส สปสช.หรือควรลงโทษกันแน่?