xs
xsm
sm
md
lg

ยุงลายไทยมีเชื้อ “ซิกา” น้อย เหตุ “ไข้เลือดออก” เจ้าถิ่น พบ เม.ย.เจอเชื้อ “เดงกี” สูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง ชี้ “ยุงลายไทย” มีเชื้อไวรัสซิกาน้อย เหตุ “ไวรัสเดงกี” ก่อโรคไข้เลือดออกเป็นเจ้าถิ่น เหตุพบผู้ป่วยมาก ศึกษาพบ เม.ย. ยุงลายมีเชื้อไข้เลือดออกสูงสุด เผย ทำหมันยุงตัวผู้ต้องศึกษาอีกมากก่อนปล่อยธรรมชาติ ด้านผู้เชี่ยวชาญไวรัส เผย ซิกา ติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ น้ำนม และสายรก

รศ.สุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ นักวิจัยภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยุงลายที่เป็นพาหะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นชนิดเดียวกับยุงพาหะไวรัสของไวรัสเดงกี และชิคุนกุนยา แต่สำหรับประเทศไทยเชื่อว่ายุงลายที่มีเชื้อซิกาจะมีปริมาณน้อย สะท้อนได้จากที่พบผู้ป่วยโรคซิกาน้อย แตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ที่พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากเท่ากับยุงลายมีเชื้อไวรัสเดงกีปริมาณมากด้วย ซึ่งจากการที่คณะได้ทำการศึกษาลูกน้ำในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกซ้ำซาก 5 ปี โดยเลือกศึกษาในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ด้วยการจับลูกน้ำทั้งในพื้นที่โรงเรียน และบ้านมาเลี้ยงจนเป็นตัวยุงเต็มวัย เพื่อยืนยันว่าเป็นยุงลายจริง โดยจับในทุกช่วงเดือนของปี ผลการศึกษาพบว่า ในเดือนเมษายนจะเป็นช่วงเวลาที่ยุงมีเชื้อไวรัสเดงกีสูงที่สุด ซึ่งเป็นหน้าแล้ง เพราะฉะนั้นการระบาดของไข้เลือดออกก็จะเกิดในหน้าฝน เพราะฉะนั้นการจะควบคุมโรคต้องทำตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งที่ยุงมีปริมาณเชื้อมาก ซึ่งการศึกษาครั้งนี้อาจนำมาใช้เป็นตัวคาดการณ์พื้นที่ระบาดได้ และในอนาคตอาจใช้เป็นโมเดลในการศึกษาปริมาณซิกาในยุงลายต่อไป หากพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคซิกาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

“จากที่ทราบว่ายุงลายเป็นพาหะของโรคติดเชื้อไวรัสที่เด่น ๆ ได้แก่ ไวรัสเดงกี ชิคุนกุนยา และซิกา ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นมีทฤษฎีระบุว่ายุงหนึ่งตัวจะมีเชื้อไวรัสหนึ่งชนิด สำหรับประเทศไทยจึงยังถือว่าไวรัสเดงกียังเป็นเจ้าถิ่นที่พบเชื้อในตัวยุงลายมากที่สุด เนื่องจากพบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวนมาก เพราะมีมานานกว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ เชื้อไวรัสที่นำโดยยุงจะอยู่ในกระแสเลือดราว 10 วัน ดังนั้น หากยุงกัดในช่วงเวลานี้ก็จะได้รับเชื้อ แต่ถ้าพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็จะไม่ได้เชื้อ โดยยุงที่กินเลือดจะเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น และเป็นพาหะของโรค ดังนั้น การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ ต้องทำลายวงจรของยุงลายด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากไม่ช่วยกันก็จะทำให้ปริมาณยุงที่เป็นพาหะของโรคมากขึ้น” รศ.สุพัตรา กล่าว

รศ.สุพัตรา กล่าวถึงกรณีการศึกษาวิจัยทำหมันยุงลายตัวผู้ เพื่อไม่ให้ผสมพันธุ์และแพร่ประชากรยุงลาย รวมถึงการตัดแต่งพันธุกรรม ว่า ที่ผ่านมา มีการทำในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งผลออกมาพบว่าสามารถควบคุมปริมาณยุงได้ดี เนื่องจากเป็นการทดลองแบบจำกัดพื้นที่ แต่ยังไม่มีการปล่อยออกสู่ธรรมชาติ เพราะยังต้องมีการศึกษาอีกมาก เช่น ต้องปล่อยยุงที่เป็นหมันออกสู่ธรรมชาติจำนวนมากเพียงใด ต้องปล่อยซ้ำมากน้อยเพียงใด จึงจะไปแย่งชิงการผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ และยุงที่มีการทำหมันหรือตัดแต่งพันธุกรรม จะแข็งแรงพอที่จะอยู่ในธรรมชาติมากแค่ไหน รวมถึงปล่อยแล้วจะควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยไปแล้วจะกลายเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าทำในเกาะปิดก็สามารถทำได้ เพราะมีขอบเขตที่ชัดเจน ส่วนเมืองไทยมีการศึกษาเรื่องนี้บ้างแต่ยังไม่มีการปล่อยสู่ธรรมชาติ แต่มีบางประเทศที่มีการปล่อยออกสู่ธรรมชาติบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงวงจำกัด

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้เรื่องการถ่ายทอดไวรัสซิกาผ่านทางเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องที่ทราบมานานแล้ว นอกจากนี้ ยังสามารถถ่ายทอดผ่านทางน้ำนม และสายรกได้ด้วย เมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้วจะมีระยะฟักตัว 2 - 7 วัน โดยช่วง 2 - 5 วันแรกจะมีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ปวดเมื่อย อาการคล้ายไข้เลือดออกและโรคที่นำโดยยุง โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างโรคไข้เลือดออก แต่ที่เป็นปัญหา คือ ทำให้ทารกแรกคลอดมีศีรษะเล็ก พิการทางสมองแต่กำเนิด ถ้าจะเปรียบซิกาก็เหมือนโรคหัดเยอรมันที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทำให้เด็กพิการ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น