รศ.สุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ นักวิจัยภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยุงลายที่เป็นพาหะโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นชนิดเดียวกับยุงพาหะไวรัสของไวรัสเดงกี และชิคุนกุนยา แต่สำหรับประเทศไทยเชื่อว่ายุงลายที่มีเชื้อซิกาจะมีปริมาณน้อย สะท้อนได้จากที่พบผู้ป่วยโรคซิกาน้อย แตกต่างจากโรคไข้เลือดออก ที่พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากเท่ากับยุงลายมีเชื้อไวรัสเดงกีปริมาณมากด้วย ซึ่งจากการที่คณะได้ทำการศึกษาลูกน้ำในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดซ้ำซาก 5 ปี โดยเลือกศึกษาในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ด้วยการจับลูกน้ำทั้งในพื้นที่โรงเรียนและบ้านมาเลี้ยงจนเป็นตัวยุงเต็มวัย เพื่อยืนยันว่าเป็นยุงลายจริง โดยจับในทุกช่วงเดือนของปี ผลการศึกษาพบว่า ในเดือนเมษายนจะเป็นช่วงเวลาที่ยุงมีเชื้อไวรัสเดงกีสูงที่สุด ซึ่งเป็นหน้าแล้ง เพราะฉะนั้นการระบาดของไข้เลือดออกจะเกิดในหน้าฝน ซึ่งการจะควบคุมโรคต้องทำตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งที่ยุงมีปริมาณเชื้อมาก ซึ่งการศึกษาครั้งนี้อาจนำมาใช้เป็นตัวคาดการณ์พื้นที่ระบาดได้ และในอนาคตอาจใช้เป็นโมเดลในการศึกษาปริมาณซิกาในยุงลายต่อไป หากพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคซิกาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น