คกก.จัดทำแนวทางระดมทรัพยากรฯ เสนอ 2 แนวทางสร้างความเท่าเทียมระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ "ไม่ร่วมจ่ายทุกกองทุน" ชี้รัฐบาลต้องจ่ายแทนผู้ประกันตน และ "ร่วมจ่ายทุกกองทุน" โอน ขรก.ใหม่เข้าประกันสังคม-บัตรทอง เพิ่มเงินเดือน 1.5 เท่า ปรับเพดานร่วมจ่ายประกันสังคม 7 เท่า บัตรทองร่วมจ่ายผ่านรับบริการพิเศษ ส่วนโรคติดต่อต้องไม่ร่วมจ่าย แนะเพิ่มประสิทธิภาพยา เทคโนโลยีการแพทย์ ช่วยลดงบประมาณระบบ สธ.เตรียมตั้งคณะทำงานเดินหน้าต่อหลังปีใหม่
วันนี้ (29 ธ.ค.) คณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน และมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตั้งแต่สมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อ มิ.ย. 2558 หลังจากมีการดำเนินงานมาตลอด 4 เดือน ขณะนี้ได้จัดทำข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ต่อ นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่รับบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเป้าประสงค์ 4 ข้อเรียกว่า SAFE ประกอบด้วย 1.ความยั่งยืน (Sustainability) หมายถึงรัฐบาลจะต้องลงทุนไหว ตัวชี้วัดคือ รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกิน 5% ขิองผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และรายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่เกิน 20% ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด 2.ความพอเพียง (Adequacy) คือคนไทยที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการสุขภาพสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างมีคุณภาพ โดยไม่มีปัญหาทางการเงิน โดยยึดจากข้อมูลปัจจุบันคือ รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่ต่ำกว่า 4.6% ของจีดีพี รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่ต่ำกว่า 17% ของรายจ่ายรัฐบาล การจนลงจากการจ่ายค่ารักษาต้องไม่เกิน 0.47% เป็นต้น
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า 3.ความเป็นธรรม (Fairness) คือทุกคนจะต้องได้รับความเท่าเทียม โดยต้องได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่เท่ากัน ถ้าจะรับบริการที่เกินกว่านั้นจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เหมือนกับรถไฟชั้น 3 ที่ทุกคนสามารถนั่งได้ฟรีไปทั่วประเทศ แต่หากจะขึ้นรถไฟชั้น 2 หรือชั้น 1 ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีความเท่าเทียม เพราะ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ แน่นอนว่าผู้มีสิทธิของทุกกองทุนจ่ายภาษีเหมือนกัน มีแต่ผู้ประกันตนสิทธิประกันสังคมเท่านั้นที่มีการร่วมจ่ายก่อนรับบริการ ซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่เท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ ไม่ต้องร่วมจ่ายเลยทุกกองทุน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายแทนผู้ประกันตน ซึ่งไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ใดจ่าย ค่าใช้จ่ายก็ยังเท่าเดิมอยู่ที่ 4.6% ของจีดีพี หรือให้มีการร่วมจ่ายทุกกองทุน โดยสิทธิข้าราชการและบัตรทองต้องร่วมจ่ายด้วย
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับสิทธิข้าราชการนั้น หากเป็นข้าราชการรายใหม่ก็ทำเหมือนกับพนักงานมหาวิทยาลัย โดยบังคับให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมหรือบัตรทอง โดยมีการปรับเงินเดือนให้ 1.3-1.5 เท่า ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการดำเนินการอยู่ ส่วนข้าราชการเก่านั้นให้เป็นไปตามสมัครใจ ขณะที่ประกันสังคมเสนอให้ปรับเพดานเงินเดือนจ่ายสมทบอีก 7 เท่า ส่วนสิทธิบัตรทองนั้นให้จ่ายเงินสมทบตามระดับรายได้หรือเศรษฐานะ โดยยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้ที่มีรายได้สูงหรือคนรวยในสิทธิบัตรทองนั้นมีอยู่ 11.6% ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนมีเศรษฐานะที่ดี ก็คือให้ผู้ป่วยประกาศตนว่ามีฐานะที่ดี ผ่านการเรียกร้องขอรับบริการพิเศษต่างๆ เช่น คลินิกพิเศษ ห้องพิเศษ เตียงพิเศษ เป็นต้น ต้องจ่ายเพิ่ม แต่จะต้องมีกลไกป้องกันมิให้คนที่มีรายได้สูงดูดทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีจำกัดไปจากคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย รวมถึงมีระบบการกระจายเงินที่เก็บได้ไปยังสถานพยาบาลอื่นๆ เพราะคนที่มีรายได้สูงมักจะอยู่ในนตัวเมืองก็จะทำให้โรงพยาบาลในตัวเมืองเก็บเงินได้มากกว่าในชนบท นอกจากนี้ ต้องไม่มีการร่วมจ่ายในบริการที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น เช่น การรักษาโรคติดต่อ อย่างวัณโรค หากมีการร่วมจ่ายอาจทำให้คนไม่รักษา ก็มีผลทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังคนอื่นได้
"การร่วมจ่ายนี้ไม่ใช่ว่าเป็นการเพิ่มเงินในระบบ แต่เป็นการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ซึ่งประเทศจะเดินหน้าไปอย่างไรก็อยู่ที่การพิจารณาของ รมว.สธ. คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีหน้าที่นำเสนอแนวทางเท่านั้น แต่หากจะเพิ่มงบประมาณในระบบ คณะกรรมการก็มีข้อเสนอคือทำผ่านระบบภาษี คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงพิจารณาภาษีเฉพาะอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษีธุรกรรมทางการเงิน โดยต้องมีกลไกและกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่า ภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้นนี้จะมาอุดหนุนระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐอย่งเพียงพอ" นพ.สุวิทย์ กล่าว
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า และ 4.ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ประมาณ 40% มีการใช้โดยที่ไม่จำเป็น ถ้าสามารถบริหารจัดการการให้บริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้ ก็จะช่วยลดงบประมาณในระบบลงไปได้ และสามารถนำเงินที่ลดไปได้นั้นไปขยายในสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงเรื่องของระบบงบประมาณซึ่งทุกระบบต้องใช้งบประมาณปลายปิด ทุกระบบประกันสุขภาพใช้อำนาจการซื้อร่วมกัน เช่น ระดับประเทศ เฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาสูงมาก หรือมีการใช้ไม่มาก และระดับเขตหรือจังหวัด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการโยงเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เพราะเป็นการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ แต่เรื่องนี้ประชาชนต้องฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่มโนไปเอง อย่างบัตรทองบอกว่าจะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้มีการพูดว่าจะยกเลิก ประชาชนต้องรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ
ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงฯ จะรับข้อเสนอทั้งหมด จากนั้นจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูข้อเสนอทั้งหมด ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะมีทั้งส่วนที่มาจากคณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรฯ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อดูความเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากความเป็นจริงและอนาคตที่จะเกิดขึ้นภายหน้า เพราะนายกฯ พูดเสมอว่าการแก้ปัญหาหนึ่งจะต้องไม่สร้างปัญหาอีกหนึ่งหรือหลายปัญหา ทั้งนี้ หลังหยุดปีใหม่ วันที่ 4 ม.ค. 2559 จะมีคณะทำงานดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นทางการ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่