รมว.สธ. ประกาศชัด ปี 59 ยกเครื่อง “บัตรทอง” เสนอ “ประชารัฐ” ร่วมอุ้มงบประมาณ สร้างความมั่นคงและยั่งยืนระบบ ไม่ใช่รัฐแบกรับฝ่ายเดียว ชี้ไม่มีประเทศร่ำรวยที่ไหนทำแบบนี้ ดักคอกลุ่มค้านอย่าเพิ่งเตะตัดขา พร้อมรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนหาทางออก
วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลายประเทศชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของไทยว่าใช้งบประมาณน้อย แต่สามารถดูแลระบบได้ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม งบประมาณนั้นมาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และมีแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 16 - 17% หรือคิดเป็น 4.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งประเทศไทยต้องคิดว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะบางประเทศที่มีระบบเช่นเดียวกับประเทศไทยสามารถอยู่ได้ แต่มีการร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้น ในปี 2559 ประชารัฐจะต้องร่วมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ว่าจะดำเนินการแบบไหน อย่างไร เพราะจะให้รัฐบาลรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ไหว ใครจะช่วยจ่ายด้วยระบบอย่างไรต้องมาหารือร่วมกัน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ต้องมาหากระบวนการที่ประชารัฐมีส่วนร่วมที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ เดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยล่าสุดคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน และ ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ได้เสนอหลักการภาพรวมว่าจะต้องดำเนินการแบบ SAFE คือ ยั่งยืน เข้าถึงได้ มีความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องมีกระบวนการมีเงินมาช่วยระบบนอกเหนือจากงบประมาณจากรัฐบาล เพราะไม่มีประเทศไหนที่รวยกว่าประเทศไทยกล้าที่จะใช้งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับความจริง
“ปี 2559 ทางออกในเรื่องนี้ต้องมี โดย สธ. อยู่ระหว่างการระดมข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยวันที่ 29 ธันวาคม 2558 จะเชิญคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวมาประชุมร่วมกัน จากนั้นจะตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าต่อทันที ส่วนที่ทุกคนบอกว่าถ้าพูดเรื่องให้ประชาชนร่วมจ่ายจะถูกคัดค้าน แต่ถ้าไม่มีใครตีเรื่องนี้ระบบหลักประกันฯ ก็เจ๊ง เรื่องนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วยไม่ใช่แค่มาบอกว่าไม่ดี ๆ แต่ต้องเสนอมาด้วยว่าที่ดีนั้นคืออะไร ให้ทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร นี่คือ รูปแบบของประชารัฐซึ่งต้องมาคุยกันด้วยเหตุและผล ต้องเดินหน้าและยืนอยู่บนความจริง ไม่ใช่ตีก่อนเลย และยินดีมากหากภาคประชาชนจะเข้ามาร่วมเสนอแนวทาง เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข” รมว.สธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา มีการติงว่าสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลมากกว่าบัตรทอง นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน การให้สิทธิการรักษาพยาบาลก็เป็นการให้สวัสดิการ มิฉะนั้น ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการแล้วมาจ่ายรักษาพยาบาลเท่ากัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่