กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ยื่นหนังสือถึง "หมอปิยะสกล" พิจารณาการตีความของ คตร. และกฤษฎีกาใหม่ ชี้ส่งผลต่อระบบสุขภาพ ทั้งการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ การเยียวยาบุคลากรสาธารณสุข
วันนี้ (4 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งจะมีการพิจารณาผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาใน ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดย นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. เพื่อขอให้แก้ไขอุปสรรคในการจัดซื้อยาของ สปสช.
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มีความเห็นว่ารายการค่าใช้จ่ายมาตรา 3 (5) ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอวัยวะเทียม และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล ซึ่งจากความเห็นของ คตร.ระบุว่า สปสช. ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไปสั่งซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ให้ โดยต้องให้โรงพยาบาลจัดซื้อเอง ซึ่งในความเป็นจริงถือเป็นปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมา สปสช.จะเหมาซื้อให้แก่ รพ.ในสังกัด สธ.ทั้งหมด ทำให้การต่อรองราคาถูกลง อย่างค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอวัยวะเทียม และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากการต่อรองราคาทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งการต่อรองราคา ทางสปสช.จะทำให้กรณีกลุ่มราคาแพง พวกสายสวนหัวใจ (Stent) สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ มีราคาถูกลง โดยบัตรทองซื้อได้ในราคา 12,000 บาท ขณะที่สิทธิข้าราชการต้องจ่ายในราคา 40,000 บาท ทั้งที่เป็นแบบเดียวกัน การจำกัดเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถนำงบเหมาจ่ายรายหัวที่ให้ไปจัดหายา และอวัยวะเทียมบางรายการที่ สปสช.เคยจัดหาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถือเป็นการตีความคับแคบ
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า ผลกระทบยังมีอีกมาก เห็นได้ชัดคือ การจัดซื้อน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ในขณะที่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสิทธิประกันสังคม ซื้อในราคา 228 บาทต่อถุง ขณะที่ สปสช.ซื้อราคาถุงละ 128 บาท โดยคนไข้หนึ่งคนใช้ 120 ถุงต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 144,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเมื่อคำนวณต่อจำนวนผู้ป่วยโรคไตทั้งระบบเป็นเงินที่ประหยัดได้มหาศาล
นายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ภาคประชาชน กล่าวว่า การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาก็มีทั้งดีและส่งผลกระทบ แต่ส่วนใหญ่กระทบ ในแง่การใช้งบเหมาจ่ายรายหัว โดยจำกัดการใช้เงินของโรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับระบบหลักประกันสุขภาพฯที่เดินหน้าดีมาตลอด ข้อดีคือ การจ่ายเงินกองทุนฯ ให้แก่หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการหรือ รพ. แม้จะเป็นเรื่องที่ขัดกับพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แต่จากการพิจารณาพบว่า หากสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ และนำไปพัฒนาหรือบริการประชาชนด้านสุขภาพ ถือว่ามีส่วนร่วมย่อมทำได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่เรื่องที่ควรพิจารณาใหม่และรัฐบาลต้องคิดมากๆ คือ การตีความว่า สปสช.ไม่สามารถช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการทางการแพทย์ได้ อย่างรถฉุกเฉินพลิกคว่ำ บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่สามารถรับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ ได้ ส่งผลต่อขวัญกำลังใจอย่างแน่นอน สุดท้ายพยาบาลวิชาชีพ บุรุษพยาบาลหนีออกนอกระบบ คนที่เดือดร้อนก็คือ ประชาชน จึงอยากให้บอร์ดสปสช.พิจารณาและทักท้วงกลับ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่