สะพัด! ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งปลัด สธ. คนใหม่เข้า ครม. “หมอปิยะสกล” อาจให้แสดงวิสัยทัศน์ก่อน คาดพิจารณาจากอายุงานที่เหลือมากกว่าดูความอาวุโส ด้านกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ฝากแก้ปัญหา รพ.เอกชน ราคาแพงเกินจริง บุคลากรสมองไหล “ปรียนันท์” วอนดัน กม. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ขณะที่แพทย์ชนบทวิจารณ์นโยบายยังไม่ลงลึก จี้ตรวจสอบปลัด สธ.
วันนี้ (25 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น่าจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 ก.ย. นั้น คาดว่า ก่อนที่จะมีการเสนอรายชื่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ อาจกำหนดให้ผู้ที่จะเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นปลัด สธ. มีการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งการพิจารณาจะไม่ได้ดูที่ความอาวุโสเป็นหลัก แต่จะพิจารณาจากอายุการทำงานที่เหลืออยู่ ซึ่งอาจเลือกจากคนที่มีอายุงานเหลือ 3 - 5 ปี
ด้าน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุข อยากให้ รมว.สธ. พิจารณาในส่วนสถานพยาบาลเอกชนด้วย ไม่ใช่แค่ รพ.รัฐ โดยเฉพาะปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง ควรมีมาตรการควบคุม และปัญหาสมองไหลของบุคลากรถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อการบริการสุขภาพ ส่วนที่มีการระบุว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มองว่า หากปรับปรุงให้ดีขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ รมว.สธ. เพิ่งมาทำงานจะมีแนวคิดปรับปรุงจริงหรือไม่ หากจริงก็ต้องมาพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบใด เช่น ร่วมจ่ายก็ต้องเป็นการร่วมจ่ายทุกระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ไม่ใช่แค่บัตรทอง โดยต้องคำนวณอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ หากจะปรับเปลี่ยนกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ อยากฝากว่า อย่าเพิ่งเชื่อคำพูดที่ว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะแย่ เกิดปัญหาทางการเงินในอนาคต ต้องพิจารณาตัวเลขให้ดีว่าเป็นจริงหรือไม่ ส่วนกระแสที่ นพ.ปิยะสกล เคยบริหารงานเอกชนมาก่อนจะมีผลต่อการบริหารงานที่ สธ. หรือไม่ ตนมองว่าเมื่อดำรงตำแหน่ง รมว.สธ. แล้ว อยากให้คำนึงถึงสุขภาพของประชาชน
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า คาดหวังให้ รมว.สธ. คนใหม่ผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ทำการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว รอเพียง รมว.สธ. นำเข้า ครม. เพื่อรับหลักการ และนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป และหวังให้ตั้งหน่วยงานกลางที่เป็น one stop service เพื่อแก้ไขปัญหาค่ายาและค่ารักษารพ.เอกชนแพง รวมทั้งปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา มีการประกาศมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ผ่านไปเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ กรรมการแพทย์ชนบท กล่าวว่า นโยบายของ รมว.สธ. คนใหม่ ดูแล้วยังไม่ลงลึก เพราะเป็นงานประจำที่ สธ. ทำอยู่แล้ว และเน้นเรื่องประนีประนอม โดยเฉพาะเรื่องเขตสุขภาพของ สธ. กับ สปสช. แต่ภาพรวมก็พอใจ สิ่งที่กังวลคือ จะเดินหน้านโยบายทีมหมอครอบครัวของ รมว.สธ. คนเก่าหรือไม่ เพราะยังไม่มีการพูดถึง ส่วนเรื่องค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ โปร่งใสตรวจสอบได้ถือว่าสำคัญ เพราะ สธ. เคยประกาศว่าจะทำให้ สธ. ปลอดคอร์รัปชัน ดังนั้น เรื่องที่แพทย์ชนบทร้องให้ตรวจสอบ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เรื่องการใช้รถซึ่งมีมูลว่าอาจมีความผิดวินัยร้ายแรง รมว.สธ. ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างและชัดเจน โดยวันที่ 27 ส.ค. ชมรมฯจะขอเข้าพบ รมว.สธ.
นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวว่า เรื่องตรวจสอบปลัด สธ. เป็นเรื่องตั้งแต่สมัย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สธ. ที่ได้แต่งตั้งขึ้น จึงไม่แปลกหากจะมีการตามเรื่องนี้ต่อ ซึ่งมองว่า นพ.ปิยะสกล น่าจะรับเรื่องนี้ และพิจารณาข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จ ทั้งกระบวนการตั้งคณะกรรมการ กระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ว่า ถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่